นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทในปีนี้จะได้รับผลดีจากการที่ภาครัฐให้ปรับค่าการตลาดเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น หรือขยับขึ้นมาที่ราว 1.8-2.0 บาท/ลิตร จากเดิมอยู่ที่ราว 1.40-1.60 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ค้าน้ำมันอยู่ไม่ได้ ขณะที่ปริมาณขายน้ำมันปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีก่อน และพุ่งขึ้นแรงช่วงต้นปีนี้หลังจากกิจกรรมต่าง ๆ กลับมาเป็นปกติ รวมถึงการเปิดประเทศ
"ค่าการตลาดวิ่งเข้าสู่ความจริงมากขึ้น และวอลุ่มขายน้ำมันที่ดีขึ้นจะส่งผลให้ผลประกอบการของเราปีนี้ดีขึ้นมาก จริง ๆ การเติบโตก็ดีมากในเชิงปริมาณดีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพียงแต่ค่าการตลาดยังกดดันอยู่ ในแง่การเติบโตในช่วงไตรมาสสุดท้ายดีกว่าคาด ทั้งปีที่แล้วเป็นไปตามเป้าหมายขั้นต่ำ 6% แต่ปีนี้ตั้งแต่ต้นปีเห็นภาพโต 2 digit แล้ว ปีนี้เราตั้งเป้าจะขยาย 8-12 ล้านลิตร คาดหวังในใจเราควรจะโตกว่านี้ถ้าไม่มีอะไรมากระแทกอีกครั้ง"นายรังสรรค์ กล่าว
ผู้บริหาร PTG กล่าวว่า ค่าการตลาดน้ำมันที่ปรับขึ้นมาเป็นเรื่องที่ภาครัฐเข้าใจตลาดมากขึ้น เมื่อราคาน้ำมันปรับลดลงมาแล้วควรจะคืนความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจให้กับภาคผู้ใช้ ผู้ขายน้ำมัน และผู้ผลิต ก่อนหน้านี้ผู้ค้าน้ำมันได้รับแรงกดดันทั้ง 2 ด้าน จากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมาก และซัพพลายในตลาดขาดแคลนจากผลกระทบที่ภาคผู้ผลิตไฟฟ้าดึงน้ำมันไปใช้แทนก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการที่ภาครัฐเข้ามาดูแลราคาน้ำมันเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ซึ่งผู้ค้าน้ำมันก็ให้ความร่วมมือมาโดยตลอด
แต่เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และทุกคนก็เห็นสภาพแวดล้อมว่าการที่ภาครัฐลงมาดูแลราคาน้ำมันค่อนข้างมาก ทำให้ตลาดเกิดความบิดเบี้ยว เกิดความไม่สมดุล จุดนี้รัฐก็เข้าใจจึงพยายามจะเข้ามาดูแล เพราะค่าการตลาดที่ 1.40 บาท/ลิตร เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่รอด และภาคผู้ผลิตไฟฟ้าเริ่มนำก๊าซฯกลับมาใช้ได้มากชึ้นแล้ว ทำให้ปัญหาซัพพลายคลายตัวลงระดับหนึ่ง แต่ยังไม่หมด เพราะคาดว่ายังต้องใช้เวลาไปถึงช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ถึงจะคลายตัวกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ทางกลุ่มผู้ค้าเองก็พยายามส่งสัญญาณขึ้นไปให้ภาครัฐได้รับทราบว่าเราอยู่ไม่ไหวแน่ ภาครัฐก็เห็นแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมของเรา ก็พยายามช่วยเหลือระดับหนึ่งด้วยการปรับค่าการตลาดขึ้นมา เพราะลดเพดานดีเซลลง ซึ่งทำให้ผู้ค้าต้องรับภาระเพิ่มอยู่แล้ว ผู้ค้าน้ำมันทุกรายจึงได้รับอานิสงส์จากจุดนี้ แต่ก็เพียงชดเชยกับความเสียหายในช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น ค่าการตลาดยังไม่ได้กลับมาอยู่ในระดับที่ควรจะเป็น
"เราเคยขอไปที่ 2 บาท ขอกลับมาที่เดิมก่อน แต่ตอนนั้น ค่าแรงยังไม่ขึ้น เงินเฟ้อยังไม่สูงขนาดนี้ และจริง ๆ ปรับขึ้นมาได้เพียง 1.80 บาทไปก่อน ก็ยังดีขึ้น เราจะรอให้คลายอีกซักนิดก็จะส่งสัญญาณต่อไปอีกว่า 1.80-2.00 เป็นสภาวการณ์ก่อนหน้านี้นะ อยู่ไมได้หรอก เพราะจะส่งผลกระทบอีกในอนาคต เราเองก็ต้องดูแลพนักงานค่อนข้างเยอะ คืนกำไรสู่สังคมไปบางส่วน ทุกค่ายก็ทำแบบนี้ค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น ค่าขนส่งก็ไม่ได้ปรับลด แต่โดยภาะรวมก็ถือว่าดีขึ้นที่ค่าการตลาดปรับขึ้นมาระดับหนึ่ง"
นายรังสรรค์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง ผู้ค้าน้ำมันเองก็ไม่ต้องการไปกดดันภาครัฐ และช่วงสงกรานต์ก็คงต้องมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนในการเดินทาง แต่ก็คงส่งสัญญาณเป็นระยะ โดยคาดว่าปลายไตรมาส 2 อาจจะขอเข้าไปหารือกันอีกครั้งหนึ่งว่าหากเป็นระดับค่าการตลาดที่ 2.30-2.50 บาทน่าจะทำให้พออยู่ได้
สำหรับการเติบโตของ PTG ในปีนี้ สัดส่วนรายได้หลัก 94-95% ยังมาจากธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน แม้ว่าธุรกิจนอนออยล์จะเติบโตได้ถึง 40-50% แต่ในด้านกำไรขั้นต้นสัดส่วนของนอนออยล์จะกลับขึ้นมาเป็น 20-25% ในปีนี้ ซึ่งบริษัทก็จะมุ่งสู่เป้าหมายผลักดันสัดส่วนกำไรขั้นต้นของนอนออลยด์ขึ้นมาเป็น 50:50 ไม่เกินภายในปี 68 เป็นที่มาที่ PTG เร่งขยายนอนออยล์ให้เติบโตมากขึ้น
ในปีนี้ PTG ได้วางงบลงทุนนอนออยล์ไว้ถึง 2,500 ล้านบาท ขณะที่งบลงทุนด้านธุรกิจน้ำมันอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท สลับกับในอดีตที่เคยให้น้ำหนักกับธุรกิจน้ำมัน ซึ่งการที่ค่าการตลาดดีขึ้น ประกอบกับปริมาณการจำหนายที่มากขึ้น น่าจะทำให้กระแสเงินสดของบริษัทดีขึ้น ทำให้เราสามารถขยายลงทุนได้มากกว่าเดิม
"เรดาห์ของเราในธุรกิจนอนออยล์ ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกลุ่มรีเทล เฮลท์ พลังงานสะอาด ดิจิทัล เราจะเอนมาด้านดิจิทัลมากชึ้นเพื่อซัพพอร์ตนโยบายเพื่อลดการพึ่งพิงแรงงาน เพราะตอนนี้เริ่มมีปัญหา เริ่มมีสัญญาณว่าแรงงานไทยไม่เพียงพอ อาจจะต้องศึกษาการใช้แรงงานต่างชาติเข้ามาช่วยสนับสนุนหรือไม่"