ดัชนีกลุ่มแบงก์ปรับตัวลง 1.00% เมื่อเวลา 11.04 น.นำโดย
KBANK ปรับลง 2.52% หรือ ลดลง 3.50 บาท มาที่ 135.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 2,348.98 ล้านบาท
SCB ปรับลง 1.49% หรือ ลดลง 1.50 บาท มาที่ 99.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 785.03 ล้านบาท
BBL ปรับลง 0.91% หรือ ลดลง 1.50 บาท มาที่ 163.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 572.60 ล้านบาท
KTB ปรับลง 0.58% หรือ ลดลง 0.10 บาท มาที่ 17.10 บาท มูลค่าซื้อขาย 308.12 ล้านบาท
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.พาย กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลงน่าจะมาจากนักลงทุนมีความกังวลที่ธนาคารพาณิชย์อาจจะมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)เพิ่มขึ้นรวมทั้งการตั้งสำรองอาจจะสูงขึ้น หลังจากที่มีประเด็นข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อาจไม่ต่ออายุมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่จะหมดสิ้นปีนี้ หวังปรับการดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่มีพอร์ตหนี้ลูกค้าเอสเอ็มอีและ Retail อยู่มาก ขณะที่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และ ธนาคารกรุงไทย(KTB) ที่ไม่ค่อยมีลูกค้าเอสเอ็มอี
อย่างไรก็ตามเห็นว่า แม้ธปท.จะไม่มีมาตรการแก้หนี้ระยะยาว แต่ธนาคารแต่ละแห่งจะมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาลูกหนี้รับผลกระทบจากโควิดจำนวนมาก ธปท.จึงออกมาตรการมาช่วยเหลือ แต่เชื่อว่าแบงก์ก็จะช่วยต่อ เพราะแบงก์เองก็ไม่ต้องการให้เป็นหนี้ NPL
ทั้งนี้ แนะซื้อ BBL ราคาเป้าหมาย 184 บาท และ KTB ราคาเป้าหมาย 20.8 บาท
ด้านบล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเป็นกลางต่อประเด็นดังกล่าวที่ ธปท. อาจจะไม่ต่อมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่จะหมดสิ้นปีนี้ (ยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 2.98 ล้านล้านบาท) เพราะเป็นไปตามที่เราและตลาดคาด โดยกลุ่มธนาคารเราคาดว่าแต่ละธนาคารมีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาได้มีการตั้งสำรองฯเผื่อมาเยอะมากแล้ว ทำให้มีโอกาสน้อยที่จะเห็น NPL เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เราเชื่อว่าจะเป็นการทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า
ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (ยอดหนี้ 6.50 หมื่นล้านบาท) - สินเชื่อฟื้นฟู (ยอดหนี้ 1.38 แสนล้านบาท) ที่จะหมดอายุในวันที่ 9 เม.ย.นี้ เราคาดว่าจะมีการต่ออายุต่ออีก 1 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มธนาคาร เรายังให้น้ำหนักเป็น "มากกว่าตลาด" เลือก BBL (ซื้อ/เป้า 187.00 บาท), KTB (ซื้อ/เป้า 20.00 บาท) เป็น Top pick
สำหรับกลุ่ม Finance เรามองเป็นกลางจากการทยอยสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นไปตามที่ตลาด ทั้งนี้เราประเมินว่ากลุ่ม Finance ได้มีการเตรียมความพร้อมระดับหนึ่ง โดยมีการทยอยตั้งสำรองเป็น Overlay รองรับแล้ว รวมทั้งประเมินว่าลูกหนี้กลุ่มนี้จะไม่กระทบต่อผู้ประกอบการอย่างมีนัย เนื่องจากบริษัทมีลูกหนี้กลุ่ม debt relief และ TDR ที่ต่ำไม่เกิน 10% ของสินเชื่อรวม และคาดว่าจะเป็นการทยอยออกจากโครงการไม่ได้ออกหมดทั้งกลุ่ม ทำให้ NPL และค่าใช้จ่ายสำรองจะทยอยเพิ่มขึ้นตามคาด สำหรับกลุ่ม Finance เราคงน้ำหนักการลงทุน "มากกว่าตลาด" และ Top pick เป็น SAWAD (ซื้อ/เป้า 62.00 บาท)