นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) กล่าวว่า เมื่อเราเข้าสู่ยุคภายหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แล้ว จึงตั้งตารออีกปีแห่งความสำเร็จในปี 66 จากแนวโน้มการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ นอกเหนือจากกลยุทธ์สามปีฉบับใหม่ของบริษัทแล้ว ในปี 66 และปีต่อๆ ไป บริษัทจะมุ่งเน้นไปที่การคว้าโอกาสใหม่ๆ เพื่อปลดล็อกและเร่งการเติบโตและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร ในขณะที่ยังคงรักษาตำแหน่งของบริษัทในฐานะผู้นำในตลาดระดับโลก
"เราได้กลับมาเติบโตอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง และ MINT อยู่ในฐานะที่ดีที่จะคว้าโอกาสที่น่าตื่นต้นที่รอเราอยู่ข้างหน้า"นายดิลลิป กล่าว
บริษัทได้กลับมาวางแผนกลยุทธ์ระยะยาวอย่างเต็มรูปแบบใหม่อีกครั้งภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 และได้ปรับแผนกลยุทธ์ดังกล่าวให้สั้นลงโดยครอบคลุมระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 65-68 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายทางกลยุทธ์และทางการเงินในระดับสูง เร่งการเติบโตของธุรกิจผ่านความแข็งแกร่งของแบรนด์ การมีทรัพย์สินที่มีคุณภาพสูง และพันธมิตรทางธุรกิจที่สร้างกำไร ในขณะที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและปรับโครงสร้างธุรกิจไปสู่ดิจิทัล โดยกลยุทธ์ในการผลักดันการเติบโตดังกล่าวจะถูกขับเคลื่อนโดยทีมงานที่มีประสบการณ์ ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และการบริหารจัดการทรัพยากรทางการเงินอย่างรอบคอบ
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 65 นั้น ช่วงไตรมาส 4/65 มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 2.4 พันล้านบาท เติบโต 44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 18% จากไตรมาสก่อน จากความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มรายได้ บริหารจัดการต้นทุน และเสริมสร้างประสิทธิภาพทางการดำเนินงาน โดยการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศทั่วโลกอีกครั้งและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยในการฟื้นตัวของทั้งสามหน่วยธุรกิจของบริษัทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มโรงแรมในประเทศไทยและมัลดีฟส์ ธุรกิจอนันตรา เวเคชั่น คลับ และเครือร้านอาหารระดับโลกภายใต้กลุ่ม Wolseley Group ในประเทศสหราชอาณาจักร
ส่วนทั้งปี 65 กำไรจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอยู่ที่ 2 พันล้านบาท พลิกฟื้นจากผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 9.3 พันล้านบาทในปี 64 ทั้งนี้ หากนับรวมรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว MINT รายงานกำไรสุทธิตามงบการเงินอยู่ที่จำนวน 1.9 พันล้านบาทในไตรมาส 4/65 และ 4.3 พันล้านบาทในปี 65 ซึ่งพลิกฟื้นจากผลขาดทุนตามงบการเงินจำนวน 1.6 พันล้านบาทในไตรมาส 4/64 และ 13.2 พันล้านบาทในปี 64
ไมเนอร์ โฮเทลส์ มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานจำนวน 1.9 พันล้านบาทในไตรมาส 4/65 เติบโต 57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 25% จากไตรมาสก่อน การเดินทางเพื่อการพักผ่อนภายในประเทศและการเดินทางเพื่อธุรกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับการเดินทางระหว่างประเทศ ช่วยเพิ่มความต้องการโดยรวมในไตรมาสดังกล่าวภายหลังจากการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางทั่วโลก
โดยรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของกลุ่มโรงแรมในทวีปยุโรปและลาตินอเมริกา ประเทศมัลดีฟส์ และออสเตรเลียยังคงได้รับแรงผลักดันจากราคาค่าห้องพักที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของกลุ่มโรงแรมในประเทศไทยฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโรค COVID-19 เป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ 4/65 นับตั้งแต่เกิดโรคระบาด โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาค่าห้องพัก โดยรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนในเดือน ธ.ค.65 สูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ถึง 9% จากผลการดำเนินงานที่ดีของโรงแรมในกรุงเทพฯ
ในไตรมาส 4/65 ไมเนอร์ โฮเทลส์ได้เปิดโรงแรม Anantara Plaza Nice ในประเทศฝรั่งเศส และ The Plaza Doha by Anantara ในประเทศกาตาร์ และได้นำแบรนด์เอ็นเอชเข้าสู่ทวีปเอเชียด้วยการเปิดตัว NH Boat Lagoon Phuket Resort ในประเทศไทย ทั้งนี้ เมื่อนับรวมจำนวนโรงแรมที่เปิดใหม่ ไมเนอร์ โฮเทลส์จะมีโรงแรมทั้งหมดจำนวน 531 โรงแรมและ 76,996 ห้อง ครอบคลุม 56 ประเทศ ณ สิ้นปี 65
ไมเนอร์ ฟู้ดมีผลกำไรจากการดำเนินงาน 402 ล้านบาท ในไตรมาส 4/65 ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ ไตรมาสก่อน จำนวนลูกค้าที่นั่งรับประทานอาหารภายในร้านที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยและออสเตรเลีย ช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของการดำเนินงานในประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 ที่เข้มงวด เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดระลอกใหญ่ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนได้มีการฟื้นตัวของการดำเนินงานอย่างแข็งแกร่งเป็นรูปตัววี ภายหลังจากการยกเลิกมาตรการการปิดพื้นที่ภายในประเทศและการกลับมาเปิดพรมแดนระหว่างประเทศอีกครั้ง
ทั้งนี้ แบรนด์หลายแบรนด์ของไมเนอร์ ฟู้ดยังคงมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยการขยายรูปแบบสาขาที่ปรับให้เหมาะสมกับแบรนด์ สถานที่ตั้ง และการเจาะกลุ่มลูกค้า โดยในไตรมาส 4 ปี 2565 แดรี่ ควีนได้นำร่องในการเปิดป๊อปอัพสโตร์ในประเทศไทย ด้วยการออกแบบที่สนุกสนาน พร้อมด้วยบริการที่นั่งและเมนูพิเศษเฉพาะช่วงเวลา นอกเหนือจากรูปแบบร้านค้าแบบดั้งเดิม ซึ่งร้านดังกล่าวเหล่านี้จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกค้าและการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้น
นอกจากนี้ เบอร์เกอร์ คิงเปิดตัวแฟล็กชิปสโตร์แห่งใหม่ล่าสุดภายใต้แนวคิด "Restaurant of the Future" ในประเทศไทยที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีแผนจะนำไปใช้กับร้านอื่นๆ ต่อไปเพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับลูกค้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของร้าน
MINT ยังให้ความสำคัญกับการลดอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งลดลงมาอยู่ที่ 1.17 เท่า ณ สิ้นปี 2565 อีกทั้ง MINT ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานส่วนของผู้ที่หุ้นผ่านการฟื้นตัวของธุรกิจและการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ ในขณะที่จำนวนหนี้สินส่วนที่มีภาระลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการชำระคืนเงินกู้ที่มีอยู่และการหมุนสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ผ่านการขายและเข้าบริหารของโรงแรม Tivoli Coimbra ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นของ MINT ในการสร้างความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ