นางสาวออมสิน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.บียอนด์ (BYD) เปิดเผยว่า ในปี 66 บริษัทตั้งเป้ารายได้ 800-900 ล้านบาท เติบโต 3-4 เท่าจากปีก่อน และกำไรก็น่าจะดีกว่าปีก่อนด้วย โดยหลักๆ จะมาจากดอกเบี้ยรับจากการปล่อยกู้ให้กับ บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด (TSB) จำนวน 8,550 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6%ต่อปี คาดว่าจะมีรายได้เฉพาะส่วนนี้ 500 ล้านบาท
นอกจากนั้น จะมาจากธุรกิจหลักทรัพย์ราว 300-400 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจปล่อยมาร์จิ้นโลน ธุรกิจ Wealth คาดมีรายได้ 100-200 ล้านบาท รวมถึงธุรกิจวานิชธนกิจ ซึ่งมีดีลอยู่ในมือ 4-5 ดีล คาดว่าจะมีการเสนอขายหุ้น IPO ในปีนี้อย่างน้อย 1 ดีล
ปัจจุบัน BYD มีเงินกองทุน (NC) ราว 3 พันล้านบาท หลังจากบริษัทได้เงินเพิ่มทุนมากว่า 9.2 พันล้านบาท โดยบริษัทยังมีความสามารถปล่อยกู้มาร์จิ้นโลนได้อีกมาก
นางสาวออมสิน ยังกล่าวว่า ปีนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ยังเผชิญการแข่งขันสูง BYD จะไม่ลงไปแข่งค่าคอมมิชชั่น แต่จะแข่งขันด้วยบริการ โดยมีโปรแกรมเทรดที่คัดกรองหุ้นที่น่าลงทุนมานำเสนอกับลูกค้า ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด 0.3% โดยมีจำนวนลูกค้าที่เปิดบัญชีด้วย 1.5 หมื่นบัญชี แต่ Active กว่า 1 พันบัญชี
และในปี 66 บริษัทวางแผนจะขยายสาขาห้องค้าอย่างน้อย 2 แห่ง ที่เชียงใหม่ และทางใต้มองไว้ที่หาดใหญ่ หรือ ภูเก็ต จากปัจจุบันที่บริษัทไม่มีสาขาเลย แต่เห็นโอกาสทางธุรกิจจึงตัดสินใจขยายสาขา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BYD กล่าวว่า บริษัทสามารถพลิกฟื้นได้จาก TSB ที่เริ่มให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะด้วยรถบัสไฟฟ้าและเรือไฟฟ้า ซึ่งบริษัทถือหุ้นทางอ้อม 49% ก็จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วน 49%
โดยปีนี้ TSB มีสัญญาสัมปทานเดินรถ 85 บริษัทแล้ว ล่าสุดได้ซื้อสมาร์ทบัสที่วิ่งรถเมล์ NGV อยู่ 365 คันและ TSB ได้เปลี่ยนมาเป็นรถบัส EV ทำให้ปัจจุบัน TSB เดินรถเมล์ EV แล้วราว 1.2-1.3 พันคัน และจะเพิ่มเป็น 3.1 พันคันภายในสิ้นปี ซึ่งจะทำให้ TSB เริ่มทำกำไรได้ จากปีก่อนที่ยังขาดทุนอยู่ เนื่องจากยังมีค่าใช้จ่ายของรถเมล์ NGV ค่อนข้างสูง แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรถบัส EV ทำให้ลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก ค่าซ่อมบำรุงต่ำ 350 บาท/คัน ส่วนแบตเตอรี่ก็มีอายุการใช้งาน 7 ปี อย่างไรก็ดี คาดว่าธุรกิจรถบัส EV จะมีระยะเวลาคืนทุน 4 ปี โดยต้นทุนหลักๆ มาจากค่ารถบัส EV ที่ 5-6 ล้านบาท/คัน
นอกจากนี้ TSB มีแผนเพิ่มหรือขยายเส้นทางรถบัส EV เป็น Feeder รองรับกับเส้นทางรถไฟฟ้า
นางสาวออมสิน กล่าวถึงเรือไฟฟ้าของ TSB เกิดเหตุเพลิงไหม้ 3 ลำเมื่อ 21 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น เรือไฟฟ้า 3 ลำดังกล่าว บริษัทยังไม่ได้รับมอบ โดยอยู่ระหว่างการสร้าง บริษัทจึงไม่ได้รับความเสียหาย แต่เสียชื่อ และได้รับมอบล่าช้า ทั้งนี้ TSB ได้ซื้อเรือไฟฟ้ามาจากบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จำนวน 27 ลำ โดยเป็นเรือโดยสาร 23 ลำ และเรือไฟฟ้าท่องเที่ยว 4 ลำ