นายอนุวัตร โกศล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.จี แคปปิตอล (GCAP) เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปี 66 บริษัทตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเติบโต 20% โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์การรักษา-ต่อยอดธุรกิจจากฐานลูกค้าเดิม, เพิ่มฐานลูกค้าใหม่ในภาคการเกษตร และการขยายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อที่ครอบคลุมนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นการคัดเลือกคุณภาพลูกหนี้ และบริหารคุณภาพลูกหนี้อย่างเข้มงวด
โดยการเติบโตจะเน้นใน 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจ Lending Business ซึ่งยังมุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร โดย GCAP มีความชำนาญและเข้าใจความต้องการเฉพาะของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งนอกจากสินเชื่อเช่าซื้อรถเกี่ยวนวดข้าวและรถเกี่ยวข้าวโพดแล้ว ทางบริษัทยังต่อยอดธุรกิจในการขยายโปรดักส์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น สินเชื่อเช่าซื้อโดรนการเกษตร รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่ๆ ในอนาคต
อีกส่วนหนึ่งเป็น Non-Lending Business ซึ่งเป็นธุรกิจที่จะเข้ามาสร้างรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยรับ โดยทาง GCAP ได้ผนึกพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจ อย่างโครงการสร้างสนามบินเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดเล็กที่เกาะเต่า ซึ่ง GCAP ร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ในเกาะเต่า และผู้ประกอบการธุรกิจการบิน ทั้งนี้เกาะเต่าอยู่ใกล้กับเกาะสมุย เกาะพงัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปปีละกว่า 6 แสนคน เพื่อดำน้ำดูปะการัง เราเห็นโอกาสการเพิ่มช่องทางการเดินทางที่ให้ความสะดวกสบายและรวดเร็ว คาดว่าสนามบินจะเริ่มลงมือก่อสร้าง และเปิดให้บริการได้ในปี 66
และอีกหนึ่งธุรกิจในกลุ่ม Non-Lending Business คือ การพัฒนาแพลตฟอร์ม "เกษตรแมทช์ชิ่ง" ให้เกษตรกรซึ่งมีไร่นา และผู้ประกอบการที่มีเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถเกี่ยวนวดข้าว รถเกี่ยวข้าวโพด หรือโดรนการเกษตร ได้มาพบกัน โดย GCAP เป็นตัวกลางในการสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ และล่าสุด GCAP ได้ขยายแผนงาน Non-Lending Business อีกครั้ง โดยประกาศร่วมทุนกับ AO FUND รุกธุรกิจหลักทรัพย์ครบวงจร ซึ่งธุรกิจหลักทรัพย์เป็น Potential Business และคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัท มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนาน การร่วมมือกับ AO FUND ซึ่งมีฐานลูกค้าที่มีความแข็งแกร่ง จะส่งผลให้ GCAP สามารถสร้างรายได้เติบโตชัดเจนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักลงทุน
สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปี 65 มีผลขาดทุนสุทธิ 100.64 ล้านบาท เกิดจากการตั้งสำรองหนี้สงส้ยจะสูญ 129.91 ล้านบาท โดยบริษัทตัดสินใจยกเลิกการใช้มาตรการผ่อนปรนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาวิชาชีพบัญชีฯ ก่อนกำหนด ที่สามารถใช้ได้ถึงสิ้นปี 2566 และลดมูลค่าสินทรัพย์ เพื่อให้สะท้อนราคาตลาด ณ ปัจจุบัน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อพอร์ตสินเชื่อและผลประกอบการในอนาคต ทั้งนี้ผลประกอบการจากการดำเนินงานของปี 2565 ก่อนการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของบริษัท มีกำไร 22.17 ล้านบาท
ณ สิ้นปี 65 บริษัทยังมีกำไรสะสมที่จัดสรรแล้วคงเหลือรวมทั้งส่วนเกินมูลค่าหุ้นที่มีอยู่ในงบแสดงฐานะการเงินส่วนของผู้ถือหุ้น ทำให้บริษัทจะไม่มีผลขาดทุนสะสมในงบการเงิน เพื่อให้บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในอนาคต เมื่อบริษัทมีกำไรสุทธิและกระแสเงินสดเพียงพอ การล้างขาดทุนสะสมในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเพียงการหักลบด้วยตัวเลขทางบัญชีตามข้อมูลส่วนของผู้ถือหุ้น
งบการเงินสิ้นปี 65 บริษัทฯ มีรายได้อยู่ที่ 213.68 ล้านบาท ลดลง 39.85 ล้านบาท หรือ 15.72 % เมื่อเทียบกับปี 64 ที่มีรายได้รวม 253.53 ล้านบาท เกิดจากการควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างเข้มงวด รวมถึงกำลังซื้อที่ลดลงจากผลกระทบต่อเนื่องของสถานการณ์โควิดและน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตร ต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 86.26 ล้านบาท ลดลง 37.08 ล้านบาท หรือ 30.07% เมื่อเทียบกับปี 64 ที่ 123.34 ล้านบาท เกิดจากการทยอยชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด โดยมีค่าใช้จ่ายในการบริหารอยู่ที่ 100.18 ล้านบาท ลดลง 15.39 ล้านบาท หรือ 13.32% เมื่อเทียบกับงวดปี 64 ที่ 115.57 ล้านบาท เกิดจากการ Re-Organize