นายสมเกียรติ ศิลวัฒนาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ (STI) กล่าวว่า ในปี 66 กลุ่ม STI ตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อน เนื่องจากเห็นโอกาสจากภาพรวมอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวในปีนี้ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญมาจากความต่อเนื่องของงบการลงทุนและแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย เช่น ทางหลวง ทางรถไฟ สนามบิน และ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ความต้องการในการเพิ่มที่อยู่อาศัยและโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
โดยกลุ่ม STI มีความพร้อมในการให้บริการที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เช่น Building Information Modeling (BIM), Internet of Things (IoT) และเทคโนโลยีอื่นๆที่ล้ำหน้า เพื่อยกระดับคุณภาพงานสู่มาตรฐานสากล
อีกทั้ง ปัจจุบันกลุ่ม STI มีงานในมือ (Backlog) พุ่งทะยานมากกว่า 4,200 ล้านบาท เตรียมทยอยรับรู้รายได้ในช่วง 2-3 ปีจากนี้ สร้างความมั่นคงในการทยอยรับรู้รายได้ในระยะยาว
สำหรับผลประกอบการในปี 65 ที่ผ่านมา กลุ่ม STI ประสบความสำเร็จในปี 2565 จากการทยอยส่งมอบงานในมือที่อยู่ในระดับสูง หลังสถานการณ์โควิดผ่อนคลาย สะท้อนการเป็นที่ปรึกษาชั้นนำที่ได้รับความไว้วางใจให้ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศ และยังคงรักษาความแข็งแกร่งทางด้านฐานะการเงินได้เป็นอย่างดี ทำให้ผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา
บริษัทมีรายได้จากการให้บริการ 1,736.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 1,732.8 ล้านบาท รายได้หลักมาจากธุรกิจบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง มีสัดส่วนกว่า 81% แม้แผนพัฒนาโครงการบางส่วนมีการชะลอตัวเนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 อย่างไรก็ตาม งานโครงการได้ทยอยกลับมาพัฒนาต่อในช่วงที่เหลือของปีหลังโควิดคลี่คลายอย่างต่อเนื่องตามแผน เช่น โครงการ One Bangkok โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นต้น
รายได้จากธุรกิจออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมและธุรกิจอื่น มีสัดส่วน 19% ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุหลักมาจากงานบริการส่วนนี้สามารถดำเนินการเพื่อส่งมอบได้มากขึ้นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะงานในส่วนของบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด (AEC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย
ขณะที่ ต้นทุนการให้บริการลดลง ส่งผลให้กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 538.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.2% มีอัตรากำไรขั้นต้นปี 65 และปี 64 อยู่ที่ 31% และ 29.3% ตามลำดับ สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนการให้บริการที่ดีขึ้นภายหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดคลี่คลายลง ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 145.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 144.4 ล้านบาท