กลุ่มแบงก์ Q1/51 คาดกำไรโตชัดเจน จากสินเชื่อฟื้นตัว-สำรองหนี้ลด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 17, 2008 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          โบรกเกอร์คาดธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ได้แก่ ธ.กรุงเทพ(BBL) ธ.กสิกรไทย(KBANK) ธ.ไทยพาณิชย์(SCB) ธ.กรุงไทย(KTB)ธ.กรุงศรีอยุธยา(BAY) ธ.ทหารไทย(TMB) ธ.นครหลวงไทย(SCIB) และ ธ.ไทยธนาคาร(BT) ที่กำลังจะทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/51 ตั้งแต่ 18 เม.ย.นี้น่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ  1.9-2.3 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากการฟื้นตัวของสินเชื่อ การตั้งสำรองลดลง รายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่วนต่างดอกเบี้ยรับ(NIM)โดยเฉลี่ยโตกว่าปีก่อนมาที่ 3.6-3.7% นอกจากนี้ยังได้เงินปันผลจากกองทุนวายุภักษ์ด้วย 
พร้อมทั้งแนะลงทุนหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ 3 แห่ง BBL KBANK SCB แม้ว่าราคาขณะนี้ปรับขึ้นไปพอสมควร และยังแนะนำลงทุน BAY หลังจากที่ได้รับโอนสินเชื่อจาก GECAL จากการควบรวมแล้วทำให้พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อโตขึ้น
บล.กรุงศรีอยุธยา คาดว่า ไตรมาส 1/51 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ง 7 แห่ง ได้แก่ BBL KBANK KTB SCB SCIB TMB และ BT จะมีกำไรสุทธิ 19,842 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 13,374 ล้านบาทในไตรมาสก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายตั้งสำรอง ของกลุ่มคาดจะลดลงถึง 72% QoQ อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท โดยเฉพาะ TMB และ KTB ,ต้นทุนการเงินลดลงต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มธนาคารจะรับเงินปันผลจากกองทุนวายุภักษ์ราว 1.8 ล้านบาท จากที่ไม่มีในไตรมาสก่อน และส่วนต่างดอกเบี้ยรับ (NIM) ของกลุ่ม คาดจะเพิ่มขึ้น 14 bps เป็น 3.7%
รวมทั้ง แนวโน้มการขยายสินเชื่อในไตรมาส 1/51 คาดจะขยายตัวในอัตราชะลอตัวราว 5.3 หมื่นล้านบาท (+1.2% QoQ) เป็นผลงานจากกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่นำโดย KTB BBL และ KBANK และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัว 8% YoY เพราะรายได้จากค่าธรรมเนียมขยายตัว
ทั้งนี้ แนะนำ ซื้อ KBANK (ราคาเหมาะสม 102) SCB (100) และ BBL(147)
บล.กสิกรไทย คาดว่า กำไรกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 1/51 จะเติบโตแข็งแกร่ง รวมไปถึงตลอดปี 51 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของสินเชื่อที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับในไตรมาส 1/51 การเติบโตของสินเชื่อรวมจะสูงถึงประมาณ 8% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
และ NIM ที่ปรับตัวสูงขึ้นจะช่วยให้กำไรสุทธิไตรมาส 1/51 เติบโตแข็งแกร่งซึ่งปรับสูงขึ้นเป็น 3.6% จาก 3.5% ในไตรมาส 4/50 และ 3.2% ในไตรมาส 1/50
คาดว่า SCB BBL TMB และ TCAP จะเป็นธนาคารที่มีกำไรสุทธิปรับตัวโดดเด่นทั้ง YoY และ QoQ
น.ส.สิรินัฏฐา เตชะศิริวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไซรัส (SYRUS) กล่าวว่า เท่าที่ดูสินเชื่อของธนาคารในไตรมาส 1/51 ทั้งกลุ่มโตดีมากกว่าปีก่อน และรายได้จากค่าธรรมเนียมก็โตดีมาก ก็คาดว่า ธนาคารขนาดใหญ่ ได้แก่ BBL KBANK SCB BAY ในไตรมาสนี้จะมีกำไรเติบโตดี โดยเฉพาะ BAY ได้รับโอนสินเชื่อจาก GECL ก็จะทำให้กำไรในไตรมาสนี้โตมาก
"ในแง่ sentiment กลุ่มแบงก์น่าจะดี หลังประกาศงบ หุ้นแบงก์บางตัวก็ปรับตัวขึ้นมาพอสมควรเหมือนกัน ก็อาจปรับต่อขึ้นไปได้บ้าง แต่หลังจากนั้นก็อาจจะมีการขายทำกำไร"น.ส.สิรินัฏฐา กล่าว
อย่างไรก็ตาม คงต้องเลือกซื้อ โดยหุ้นที่มองว่ายังมีราคาถูก ได้แก่ KTB BBL KBANK ขณะที่ SCB BAY ราคาปรับตัวขึ้นมามากแล้ว
ด้านบล.ฟิลลิป คาดหมายธนาคารพาณิชย์ไทย 8 แห่งจะมีผลกำไรรวมอยู่ที่ 1.94 หมื่นล้านบาท สำหรับไตรมาสแรก ปี 51 โดยเพิ่มขึ้นราว 2.5 เท่าจากผลขาดทุน 13.11 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้าและหากเปรียบเทียบ YoY แล้วกำไรจะเติบโตได้ที่ราว 3.6% จาก 1.87 หมื่นล้านบาท
ธนาคารที่คาดว่าจะมีผลประกอบการดีขึ้นทั้ง QoQ และ YoY ได้แก่ BBL, SCB และ TMB โดยธนาคารที่มีผลประกอบการโตสุด QoQ ได้แก่ KTB, TMB, BT และธนาคารที่มีผลประกอบการโตสุด YoY ได้แก่ SCIB, TMB พร้อมยังคงแนะนำ “ลงทุนมากกว่าตลาด" โดยหุ้นแนะนำซื้อ ได้แก่ BAY , KBANK , SCIB และ KTB
ด้าน บล.เกียรตินาคิน คาดว่า ธนาคาร 7 แห่งจะมีกำไรสุทธิรวม 22,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% จากปีก่อนในไตรมาสเดียวกัน เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มมากขึ้น และต้นทุนทางการเงินที่ปรับลดลง โดย SCIB จะเป็นธนาคารที่มีกำไรสุทธิเติบโตเด่นที่สุด ส่วน KTB กำไรสุทธิจะหดตัวลง
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/50 แล้วผลประกอบการของกลุ่มธนาคารจะเติบโตขึ้นถึง 366.3% การตั้งสำรองที่ลดน้อยลงมาก ได้แก่ KTB, TMB และการได้รับเงินปันผลจากกองทุนวายุภักษ์ในหลายธนาคาร ได้แก่ KTB, BAY, SCIB
ดังนั้น จึงยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร สูงกว่าตลาด จากการที่ปี 51 ภาระการตั้งสำรองจะลดน้อยลงส่งผลให้ผลประกอบการเติบโตขึ้นอย่างมาก และยังแนะนำให้ลงทุนในธนาคารขนาดใหญ่ คือ SCB BBL KBANK
และให้ BAY เป็นหุ้น Top pick โดยนักวิเคราะห์จากบล.เกียรตินาคินคาดว่า BAY ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/51 จะมีกำไรสุทธิ 1,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 50%YoY และ 77.7%QoQ ซึ่งภายหลังการควบรวม GECAL ได้มีการโอนสินเชื่อจาก GECAL ที่มีมูลค่าถึงประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาทมาที่ BAY ซึ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีผลตอบแทนสูง ส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อในไตรมาส 1/51 โตกว่า 20%
สำหรับการลงทุนใน CDO ของกลุ่มธนาคาร จากรายงานพบว่ามีทั้งสิ้น 4 ธนาคาร ประกอบด้วย BBL
ลงทุนรวม 50 ล้านเหรียญ, KTB ลงทุน 160 ล้านเหรียญ, BT เหลือการลงทุนราว 360 ล้านเหรียญ และ BAY ลงทุน 100
ล้านเหรียญ คาดว่า BT อาจจะได้รับผลกระทบสูงสุดหากต้องตั้งสำรองเพิ่มเติมในปีนี้ รองลงมาเป็น KTB ขณะที่ BBL คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
คาดว่า BBL จะตั้งสำรองเผื่อด้อยค่าการลงทุนใน CDO เพิ่มอีกราว 300 ล้านบาทในไตรมาสนี้ แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลกำไรในไตรมาสนี้ โดยคาดว่ามูลค่าของการสำรองเผื่อด้อยค่าการลงทุนทั้งหมดจะเพิ่มเป็น 1,400 ล้านบาท คิดเป็นราว 82% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด
KTB ได้ตั้งสำรองเผื่อด้อยค่าไปแล้วรวม 3,000 ล้านบาทในปี 50 คิดเป็น 60% ของมูลค่าการลงทุนรวมใน CDO ซึ่งคาดว่า KTB จะไม่มีการตั้งสำรองเพิ่มเติมในไตรมาส 1/51 แต่ KTB ยังมีความเสี่ยงที่อาจต้องตั้งสำรองเพิ่มเติมในอนาคตหากราคาของตราสาร CDO ที่ลงทุนในต่างประเทศมีราคาลดลง
BT ทางธนาคารไม่ได้เปิดเผยข้อมูลถึงภาระการตั้งสำรองเผื่อด้อยค่าการลงทุนใน CDO ใน 1Q51 โดย BT ได้บันทึกขาดทุนจากการตีราคาเงินลงทุน CDO ในปี 50 รวม 7,315 ล้านบาท แบ่งเป็นผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงรวม 5,806 ล้านบาท และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้วรวม 1,509 ล้านบาท จากมุมมองเชิงอนุรักษณ์นิยม เราคาดว่า BT จะตั้งสำรองเพิ่มอีกรวม 500 ล้านบาท ในไตรมาส 1/51
คาดการณ์ผลกำไรสุทธิ กลุ่มแบงก์ Q1/51
หน่วย:ล้านบาท
BBL KBANK SCB BAY
บล.กรุงศรีอยุธยา 5,030 4,113 5,108 -
บล.เกียรตินาคิน 5,457 3,897 5,565 1,694
บล.ฟิลลิป 5,340 3,860 4,840 1,090

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ