ZoomIn: เช็คสุขภาพหุ้นกลุ่ม CP ปี 66 จะฟื้นไข้หรือยัง? จากปี 65 ต้องส่งห้องฉุกเฉิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 28, 2023 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัทในกลุ่มซีพีสร้างเซอร์ไพร์ทางลบให้กับตลาดหลังประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/65 และปี 65 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) กำไรปกติไตรมาส 4/65 ที่ 2,907 ล้านบาท หดตัวลงถึง 24% จากไตรมาสก่อนหน้า และจบปี 65 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน

  • บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF) มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.81 พันล้านบาท ลดลง 73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 65% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่กำไรสุทธิทั้งปี 65 อยู่ที่ 1.39 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 7%
  • บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUEE) ขาดทุนสุทธิ 1.82 หมื่นล้านบาทในปี 65
  • บมจ.สยามแม็คโคร(MAKRO) ปี 65 มีกำไรสุทธิ 7.69 พันล้านบาท วูบลง 43.8% จากปีก่อน

*CPALL

ทิศทางปี 66 จากการสำรวจข้อมูลจากทางนักวิเคราะห์หลากหลายสำนัก บล.เอเซียพลัส ประเมินกำไรในปี 66-67 ของ CPALL จะเติบโตได้ในอัตรา 45% และ 11% ตามลำดับ จากการเติบโตของทุกๆ ธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจสะดวกซื้อ (ธุรกิจหลัก) คาดจะมีกำไรเติบโตขึ้นได้ต่อเนื่อง เพราะยอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น ส่งเสริมให้กำลังซื้อสูงขึ้น หนุนการเติบโตของยอดขายสาขาเดิมที่มีอยู่ 13,838 แห่ง ณ สิ้นปี 65 บวกกับการที่บริษัทยังมีนโยบายเพิ่มจำนวนสาขา 7-eleven อีกราว 700 สาขา/ปี

นอกจากนี้ คาดอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) จะสูงขึ้นจาก 21.4% ในปี 65 เป็น 21.9-22.1% ในปี 66-67 เพราะคาดยอดขายของใช้เพื่อสุขภาพและความงาม (Personal care) ซึ่งมีมาร์จิ้นสูงกว่าสินค้าอื่นๆ จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาในแหล่งท่องเที่ยว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามาเพิ่มขึ้นจาก 11.2 ล้านคนในปี 65 เป็น 25 ล้านคนในปี 66

ทั้งนี้ เชื่อว่าการเติบโตของรายได้และมาร์จิ้นที่สูงขึ้นนั้นจะมากเพียงพอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ตามการเปิดสาขาเพิ่มและค่าสาธารณูปโภค ซึ่งจะยังเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นค่า FT ตั้งแต่ต้นปี 66

ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก (MAKRO) คาดกำไรจะเติบโตดีสุดในกลุ่ม เพราะทั้งธุรกิจค้าส่ง (MAKRO) และธุรกิจค้าปลีก(Lotus?s) ได้แรงหนุนจากรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่สดใสขึ้น ส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ขณะที่ค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันการเติบโตของกำไรในปี 65 จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากแผนการทยอยจ่ายชำระคืนหนี้เงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่เหลืออยู่ราว 1,251 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 65 ก่อนที่จะครบกำหนดในปี 67 เนื่องจากเงินกู้ดังกล่าวนอกจากจะมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในภาวะขาขึ้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน ม.ค.66 ที่ผ่านมากลุ่ม MAKRO ได้จ่ายคืนหนี้ก่อนกำหนดบางส่วนแล้วราว 760 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ปัจจุบันยอดหนี้ดังกล่าวคงเหลืออยู่ราว 491 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแผนจะชำระคืนทั้งหมดก่อนกำหนดได้ภายในกลางปี 66 นี้

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่ากำไรของ CPALL ในปี 66 จะยังไม่สามารถกลับไปสู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิดได้

ส่วนราคาเป้าหมายปี 66 ปรับลดจาก 75 บาท เหลือ 72 บาท (คงการอิง PER ที่ 34.8 เท่า, ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 ปี) แต่ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ"

*MAKRO

หุ้น MAKRO บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า กำไรในปี 66-67 จะเติบโตได้ดีกว่าในปี 65 เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนดังต่อไปนี้

1. ยอดขายสินค้ายังมีแนวโน้มสูงขึ้นได้อีก จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่คาดจะเติบโตดีขึ้น

2. รายได้ค่าเช่าที่คาดจะเพิ่มขึ้น ตามอัตราการเช่าพื้นที่ ซึ่งคาดจะสูงขึ้นหลังผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น ส่งผลต่อโอกาสในการการขยับราคาค่าเช่าเพิ่ม

3. อัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) ที่คาดจะสูงขึ้น ตามฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้น

4. ดอกเบี้ยจ่ายที่จะเริ่มลดลง

ยังคงประมาณการกำไรปี 66-67 ไว้ตามเดิม ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท (+59% YoY) และ 1.8 หมื่นล้านบาท (+43% YoY) โดยราคาเป้าหมายปี 66 คงเดิมที่ 44.00 บาท (อิง PER 36.9 เท่า, +2.0 S.D) ซึ่งยังมี upside ราว 9.3% จากราคาตลาดปัจจุบัน จึงปรับคำแนะนำจากเดิม "SWITCH" เป็น "ซื้อ"

*CPF

ขณะที่ บล.หยวนต้า ประเมินแนวโน้มกำไรปกติไตรมาส 1/66 ของ CPF เบื้องต้นคาดชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาหมูไก่ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และจีนที่ชะลอตัว โดยในประเทศได้รับผลกระทบจากเนื้อหมูเถื่อนที่มากขึ้นกดดันราคาหมูหน้าฟาร์ม ส่งผลต่อเนื่องกับราคาไก่ที่เป็นสินค้าทดแทน ขณะที่ต่างประเทศราคาหมูลดลงจากปริมาณหมูในตลาดที่ออกมามากขึ้น อย่างไรก็ตามเราคาด ปริมาณขายที่สูงขึ้นช่วยชดเชยได้บางส่วนและมองว่ากำไรจะยังเติบโตได้ YoY เราคงประมาณการกำไรปกติปี 2566 ที่ 14,312 ลบ. (+32.47% YoY)

ด้วยผลประกอบการไตรมาส 4/65 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดมาก ทำให้เราเริ่มเห็น Downside risk ต่อผลประกอบการปี 66 ทำให้เรามีโอกาสในการปรับประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายลง แม้เรายังมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มกำไรที่คาดจะเติบโตได้ YoY จากปริมาณขายที่สูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับแผนการควบคุมต้นทุน, เน้นจำหน่ายสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง และเน้นช่องทางจัดจำหน่ายที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงมากขึ้น และคาดส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจปศุสัตว์ในจีน (CTI) จะฟื้นตัวได้ดีมากขึ้นและรับรู้ผลของการเปิดประเทศของจีนได้เต็มปี เบื้องต้นยังคงราคาเป้าหมายที่ 30.00 บาท และคงคำแนะนา ซื้อ

*TRUE

บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ให้มุมมองต่อ TRUE ว่า บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUEE)หรือทรูเดิม ได้ควบรวมกิจการกับบมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (DTAC) รอติดตามทีมผู้บริหารใหม่ประกาศแผนธุรกิจในบริษัทใหม่ คือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ในประเด็นการสร้างมูลค่า synergy ร่วมกันและการประหยัดต้นทุนค่าเสื่อมราคาจากการตัดจาหน่ายสินทรัพย์และการปรับอายุ useful life ของสินทรัพย์ใหม่

ให้ราคาเป้าหมายหลังการรวมกิจการที่ 9.23 บาท/หุ้น สำหรับ TRUE บริษัทใหม่ ทั้งนี้มูลค่าตามราคาตลาดรวมกันของ TRUE เดิม(ปัจจุบันใช้ชื่อ TRUEE) และ DTAC ในวันซื้อขายวันสุดท้าย (17 ก.พ.66) จะสามารถนำมาคำนวณเราคาตลาดของ TRUE ใหม่ได้ที่ 8.51 บาท/หุ้น ซึ่งจะเริ่มซื้อขายในชื่อ TRUE ในวันที่ 3 มี.ค.66


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ