ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกฟ้องคดีที่บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ของพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินเอกสารคัดเลือกเอกชนในการประกวดราคาครั้งที่ 1 เนื่องจากศาลฯวิเคราะห์แล้วเห็นว่า คณะกรรมการ ม. 36 ฯ และ รฟม.มีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมาย และ BTSC ไม่ได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ เพราะมีเวลาในการแก้ไขข้อเสนอ อีกทั้งหลักเกณฑ์คัดเลือกเปลี่ยนไปเพียงบางส่วน
ด้านนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กล่าวว่า จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ก็เป็นขั้นตอนที่ทาง รฟม.รอดำเนินการอยู่ ซึ่งหลังจากที่ BEM ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทาง รฟม.ก็ได้เดินขั้นตอนจนถึงร่างสัญญาได้ผ่านอัยการเรียบร้อย รอเพียงนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ จึงจะเซ็นสัญญาร่วมกันได้
BEM เตรียมเข้าทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการ 139,127 ล้านบาท กับ รฟม. ภายหลังจาก ครม.มีมติอนุมัติ
สัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง
1. สายสีส้ม ช่วงตะวันออก มีระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานีต้งแต่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จนถึงสถานีสุวินทวงศ์ โดยเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี
2. สายสีส้ม ช่วงตะวันตก มีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานีตั้งแต่สถานีบางขุนนนท์จนถึงสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย