บล.เอเซีย พลัส (ASPS) หั่น EPS และเป้า SET ลงหลังจากกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4/65 ลดลงแรง สร้าง Downside ต่อประมาณการ EPS ของปี 66 โดย EPS ที่ลดลงทุกๆ 1% กดดันดัชนีเป้าหมายลง 17 จุด ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 66 ล่าสุดฝ่ายวิจัย ASPS ปรับลดประมาณลงจาก 1.27 ล้านล้านบาท เป็น 1.12 ล้านล้านบาท และ EPS ปี 66 ลดลงจาก 99.2 บาท/หุ้น เหลือ 91.8 บาท/หุ้นเมื่อคูณกับ P/E 17.54 เท่า (ที่คำนวณจาก MEYG 4.2% ภายใต้ดอกเบี้ยนโยบาย 1.5%) ได้ดัชนี SET เป้าหมายอยู่ที่ 1,610 จุด
"กำไรบริษัทจดทะเบียนงวด 4Q65 ต่ำกว่าคาดมาก สร้าง Downside ตลาดเปิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยดัชนีเป้าหมายเหลือ เพียง 1,610 จุด อีกทั้งยังกดดันให้ Fund Flow พลิกกลับมาไหลออกอย่างชัดเจนในเดือน ก.พ.66" บล.เอเซีย พลัส ระบุ
ตลาดหุ้นไทยรายงานงบไตรมาส 4/65 ออกมา 538 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน Market Cap. 92% ลดลง 35%QoQ และ 45%YoY และเป็นการลดลงแรงจาก 13 Sector โดยเฉพาะ Sector ที่ขาดทุน คือ ปิโตร (PETRO) , เหล็ก (STEEL), ไอซีที (ICT) , ก่อสร้าง (CONS) ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วงไตรมาส 4/65 เติบโตเพียง 1.4%yoy (ต่ำสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่นๆ ในปี 65) หลายเครื่องยนต์หดตัวลง ทั้งการอุปโภคภาครัฐ -8%YoY การส่งออก -10.5%YoY และการนำเข้า -4.6%YoY เป็นต้น
อีกทั้งกำไรไตรมาส 4/65 ของบริษัทจดทะเบียนไทยยังออกมาต่ำกว่า Bloomberg Consensus คาด (Negative Surprise) ถึง -40% ถือว่าผิดคาดมากกว่าไตรมาสอื่นๆ ในอดีตมาก
กำไรที่ออกมาต่ำกว่าคาดมาก กดดันให้ ESP ปี 65 ลดลงเหลือ 81.3 บาท/หุ้น (เดิม 93.6 บาท/หุ้น) ส่งผลให้ Current P/E ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 20 เท่า ถือว่าแพงกว่าระดับปกติที่ 17.54 เท่า (อิงกับ MEYG ที่ 4.2% และ Bond Yield 1Y 1.5%) เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่กดดันให้นักลงทุนขายทำกำไรหรือลดน้ำหนักพอร์ตลงในเดือน ก.พ. 66 จน SET Index ให้ผลตอบแทนติดลบ -2.51%mtd ซึ่ง Underperform มากสุด เมื่อเทียบช่วงเดือนก.พ. ปีอื่นๆ ในรอบ 23 ปี (ไม่นับปีที่เผชิญวิกฤติโควิด กับวิกฤติดอทคอม)
เดือน ก.พ. 66 เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับแรงกดดันภายนอกทั้งประเด็นความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์, เงินเฟ้อสหรัฐที่ยืนระดับสูง และที่สำคัญคือการรายงานงบไตรมาส 4/65 ของบริษัทจดทะเบียนไทยผิดจากที่ตลาดคาด (Negative Surprise) มากขึ้นเรื่อยๆ จาก -20% ขึ้นสู่ระดับปัจจุบัน -40% รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าขึ้นมาเร็วถึง 5.2%ytd ส่งผลให้เป็นแรงกดดันให้ Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในเดือน ก.พ. นี้สูงกว่าปกติ ถึง 1.1 พันล้านเหรียญ หรือ 3.7 หมื่นล้านบาท หรือตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคในเดือนนี้ และอีกมุมหนึ่ง คือ เป็นเดือนที่ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 หรือช่วงเกิด COVID-19 แรกๆ
แม้ต่างชาติจะกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยหนักในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังเชื่อว่า Fund Flow ในระยะถัดไปมีโอกาสชะลอการไหลออก หาก มีประเด็นบวกเข้ามาเสริม เช่นความมีเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง , กนง. ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือเลื่อนกำหนดเวลาขึ้นดอกเบี้ยในวันที่ 29 มี.ค. 66 ออกไป รวมถึง Downside ของ SET Index ตามประมาณการใหม่มีจำกัด
กลยุทธ์การลงทุนเดือน มี.ค. ต้อง Selective มากขึ้น ภายใต้ Valuation ตลาดหุ้นไทยที่เริ่มตึงมากขึ้น รวมถึง Fund Flow ชะลอการไหลออก การเลือกหุ้นลงทุนจำเป็นจะต้องพิถีพิถันมากขึ้น โดยฝ่ายวิจัยฯ ทำการศึกษา พบว่า เวลากำไรบริษัทจดทะเบียนฟื้นขึ้นจากฐานที่ต่ำ QoQ หุ้นมีโอกาสฟื้นตัวตามในระยะถัดไปเช่นกัน
ดังนั้นหุ้นเด่นประจำเดือน มี.ค. แนะนำสะสมหุ้นกำไรงวดไตรมาส 4/65 ผ่านจุดเลวร้าย (Bottom Out) และฟื้นตัวต่อในช่วงไตรมาส 166 อย่าง IVL, BGRIM, BLA, JMT รวมถึงหุ้นอิงการฟื้นตัวเศรษฐกิจใน ประเทศ ที่มีกำไรฟื้นตัวต่อเนื่อง CRC, CBG, AP ส่วนหุ้น Tactical Short Sell เดือน นี้ คือ HANA SCCC