นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 66 คาดว่าจะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มฟื้นตัว รวมถึงผู้บริโภคตระหนักถึงการทำประกันภัยด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประกันการเดินทางที่มีนักท่องเที่ยวสูงขึ้น การประกันสุขภาพ กลุ่มธุรกิจประกันภัยอสังหาริมทรัพย์ ประกันภัยรถยนต์ รวมถึงภัยทางทะเลและการขนส่งสินค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กลยุทธ์การตลาดในปีนี้ บริษัทมุ่งเน้น Conventional Reinsurance มากขึ้น จากภาวะตลาด Hard market ซึ่งคาดว่าจะเป็นโอกาสให้ THRE เติบโตในการทำกำไรได้ดีขึ้น โดยสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อรับประเภท Conventional Reinsurance มีมากกว่า 55% เพิ่มขึ้นจาก 45% ในปี 64
นอกจากนี้บริษัทวางแผนเชิงรุกเข้าไปขยายงานรับประกันภัยต่อที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบอาเซียน CLMV ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ อีกทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ THRE มองว่ามีศักยภาพในการเข้าไปขยายธุรกิจหรือรับงานเช่นกัน
บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตเบี้ยประกันภัยต่อรับปี 66 โตไม่ต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 65 ที่มีเบี้ยราว 4,200 ล้านบาท จากแนวโน้มค่าเบี้ยประกันภัยต่อสูงขึ้น ประกอบกับบริษัทมีรายได้จากเงินลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงรายได้จากการให้บริการของกลุ่มบริษัทย่อยที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งมีรายได้ใหม่จากธุรกิจ AI (Artificial Intelligent) โดยคาดว่าจะสามารถเติบโตสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนรายได้จากเบี้ยประกันต่อรับของบริษัท แบ่งเป็น อุบัติเหตุและสุขภาพ 46% กลุ่มรถยนต์ 30% อสังหาริมทรัพย์ 13% ขนส่งสินค้าต่างประเทศ 2% และประกันภัยประเภทอื่น 9%
"ภายหลังจาก บมจ.บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป (BVG) บริษัทลูกของ THRE เข้าตลาด mai เชื่อว่าจะเป็นส่วนเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจภายใต้เครือของ THRE เนื่องด้วย BVG เป็นหนึ่งในผู้นำด้านบริการเคลมของธุรกิจประกันภัยรถยนต์และสุขภาพ มีลูกค้าและเครือข่ายคู่ค้าประกันภัยที่แข็งแกร่ง มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 40% โดยมีแผนในการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและระบบจัดการสินไหมทดแทนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน รวมถึงสามารถต่อยอดธุรกิจในต่างประเทศได้ ซึ่งดูจากราคาหุ้น BVG ตั้งแต่ราคา IPO 3.85 บาท จนสามารถยืนเหนือราคา IPO มาอยู่ที่ 7.15 บาท (ณ 28 ก.พ.) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นและนักลงทุน" นายโอฬารกล่าว
ผลประกอบการไตรมาส 4/65 มีเบี้ยประกันภัยต่อรับ 984 ล้านบาท และพลิกมามีกำไรสุทธิ 32 ล้านบาท จากปีก่อนไตรมาส 4/64 ที่ขาดทุน 143 ล้านบาท โดยมีปัจจัยจากผลการรับประกันภัยต่อที่เติบโตตามเป้า รวมถึงผลกระทบจาก Covid -19 หมดแล้ว และมีรายได้จากบริษัทย่อยที่มีผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นเข้ามาสนับสนุน
ทั้งปี 65 มีเบี้ยประกันภัยต่อรับอยู่ที่ 4,200 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยต่อรับสุทธิจำนวน 3,856 ล้านบาท โดยมีผลการรับประกันภัยต่อปรับตัวดีขึ้น 45% เนื่องจากผลกระทบ Covid-19 หมดไปแล้วตั้งแต่กลางปี โดยหากพิจารณาผลการดำเนินงานกรณีไม่รวมผลกระทบ Covid-19 บริษัทจะมีกำไรสุทธิงวดปี 65 อยู่ที่ 201 ล้านบาท หรือคิดเป็น Combined ratio 94.6% ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 92.7% ซึ่งมาจากประสิทธิภาพของการรับประกันภัยขยายตัวจากส่วนงาน Personal และ Commercial line ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง