ก.ล.ต. ร่วมกับองค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (สมาคม บจ.) จัดงานเสวนา "บทบาทผู้นำและการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน" แลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง และประสบการณ์การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในองค์กรธุรกิจ ในวันนี้ พร้อมทั้งเปิดตัว "Gender Corner" ศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือ คำแนะนำและงานด้านการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ จัดทำโดย ก.ล.ต. และองค์กรพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า "ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับและพัฒนาตลาดทุน สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ผนวกไปในกระบวนการประกอบธุรกิจ ซึ่งการให้ความสำคัญด้านความเท่าเทียมทางเพศก็นับเป็นหนึ่งในปัจจัยด้านสังคมที่สำคัญ ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสเดือนแห่งวันสตรีสากล ก.ล.ต. จึงได้จัดงานเสวนานี้เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทผู้นำสตรี
พร้อมทั้งเปิดตัวไมโครไซต์ใหม่ภายใต้เว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ชื่อ ?Gender Corner? ลิงก์ https://www.sec.or.th/TH/Pages/GenderCorner/homepage.aspx จัดทำโดย ก.ล.ต. และองค์กรพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือ คำแนะนำ และงานด้านการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศให้แก่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ในการนี้ ก.ล.ต. ขอชื่นชมบริษัทจดทะเบียนที่มีความมุ่งมั่นในการให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมทางเพศ โดยจากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565 มีบริษัทจดทะเบียนจำนวน 206 บริษัท ที่มีสัดส่วนกรรมการหญิงร้อยละ 30"
นางสาวซาร่าห์ นิบบซ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า "เราทราบดีว่าการกระตุ้นให้ผู้หญิงพยายามหนักขึ้นอยู่ฝ่ายเดียวให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำองค์กรนั้น ไม่อาจก่อให้เกิดอำนาจทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริงได้ ดังนั้นกลไกการทำงานที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยและกระจายโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่ทุกคนจึงสำคัญอย่างยิ่ง UN Women ขอขอบคุณสำนักงาน ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ที่มุ่งมั่นส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำของสตรี อีกทั้งยังคอยติดตามความก้าวหน้า ช่วยส่งเสริมหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (WEPs) และสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยเข้าร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์สนับสนุน WEPs และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน WEPs ร่วมกับประชาคมโลก"
นางพจนารถ ปริญภัทร์ภากร กรรมการสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า "ประเทศไทยให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของสตรีในฐานะผู้นำได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนกว่า 200 แห่งที่มีคณะกรรมการบริษัทเป็นสุภาพสตรี ซึ่งถือว่ามากถึง 1 ใน 3 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด สะท้อนโอกาสของผู้หญิงไทยในองค์กรเอกชนที่เปิดกว้างกับหน้าที่การงานและมีบทบาทในสังคมมากขึ้น และเกิดจากหลายองค์กรมีความตระหนักและสนับสนุนเรื่องการสร้างสัดส่วนที่สมดุลให้กับความหลากหลายในองค์กร และเชื่อว่าในอนาคตบทบาทของสตรีจะเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่มีอิทธิพลสูงต่อการผลักดันเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในฐานะสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย มีเจตนารมณ์ในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมขอแสดงความชื่นชมและยกย่องธุรกิจต้นแบบที่ได้ริเริ่มและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ผ่านการเพิ่มบทบาทผู้นำสตรีหรือ Women's Empowerment พร้อมเปิดโอกาสให้คนทุกเพศได้มีส่วนร่วม และมีความเท่าเทียมด้วยเช่นกัน"
ในช่วงการเสวนา ผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในองค์กรของกรรมการและผู้บริหารหญิง โดยมีความตรงกันว่า ความเท่าเทียมทางเพศเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในบริบทปัจจุบันที่ความเสี่ยงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงปัจจัยทางเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่ยังหมายรวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมอีกด้วย ผู้นำองค์กรจึงควรตระหนักถึงความสำคัญความเท่าเทียมทางเพศ กำหนดทิศทาง หรือ tone from the top เพื่อนำพาการขับเคลื่อนไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่สามารถปฏิบัติได้จริง
สำหรับผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ 1. นางเจนนิสา คูวินิชกุล จักรพันธุ์ ณ อยุธยา กรรมการอิสระ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 2. นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TCM) 3. นางสาวสิริพร ราธี ผู้จัดการโครงการ WE RISE Together ประจำประเทศไทย UN Women และ 4. นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต.