ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เดินหน้ารุกตลาดสินเชื่อในประเทศฟิลิปปินส์ผ่าน เอสบี ไฟแนนซ์ (SB Finance) ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกรุงศรีและซีเคียวริตี้ แบงก์ คอร์ปอเรชั่น (SBC) สถาบันการเงินชั้นนำในประเทศฟิลิปปินส์ พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการเดินหน้าสู่อาเซียนกับกรุงศรี (Go ASEAN with krungsri) ตอกย้ำจุดยืนในการเป็น "ธนาคารแห่งภูมิภาค"
นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล BAY กล่าวว่า กรุงศรีเดินหน้าขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคให้แข็งแกร่ง สำหรับฟิลิปปินส์ กรุงศรี และเอสบี ไฟแนนซ์ คอมปานี อิงค์ (SB Finance Company, Inc. หรือ SBF) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกรุงศรี และซีเคียวริตี้ แบงก์ คอร์ปอเรชั่น (SBC) สถาบันการเงินชั้นนำในประเทศฟิลิปปินส์ ทำงานร่วมกันในการพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อรายย่อยที่มีคุณภาพแก่ผู้บริโภคในประเทศฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 111 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยที่ระดับ 6-8% ในระหว่างปี 66-71 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของเงินโอนจากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และการบริโภคภายในประเทศ และอีกหนึ่งอุตสาหกรรมดาวรุ่งของฟิลิปปินส์ คือธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการธุรกิจ (Business Process Outsourcing) ได้แก่ บริการลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) และบริการเกี่ยวกับสารสนเทศ (IT Services) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง จากการที่ฟิลิปปินส์มีแรงงานที่มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีและมีค่าจ้างอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐบาลทั้งในแง่นโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ฟิลิปปินส์จึงกลายเป็นตลาดที่น่าจับตามอง และมีโอกาสทางธุรกิจมากมาย
โอกาส และศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ประกอบไปด้วย
- แผนโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้นโยบาย "Build, Better, More" รวมทั้งหมดกว่า 100 โครงการ อาทิ การก่อสร้างงานโยธา ท่าอากาศยาน รวมถึงระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เป็นต้น โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการสร้างงานจำนวนมาก
- ธุรกิจการส่งออกมีความแข็งแกร่ง และอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว และเติบโต หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ด้วยศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับความเชี่ยวชาญในตลาดฟิลิปปินส์ของซีเคียวริตี้ แบงก์ และผู้นำทางธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยในประเทศไทยของกรุงศรี ถือเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในเรื่องการตลาด ช่องทางการขาย และการบริหารความเสี่ยง จนสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อส่งเสริมความสำเร็จของชาวฟิลิปปินส์ได้มากมาย
โดยนับตั้งแต่กรุงศรีเข้าซื้อหุ้น 50% ใน SBF เมื่อตุลาคม 2563 ยอดสินเชื่อรวมของบริษัทเติบโต 38% และสามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ทั้งนี้กรุงศรีได้เปิดตัวหลากหลายผลิตภัณฑ์สู่ตลาดฟิลิปปินส์ อาทิ สินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระสินค้า (Hoologan) สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ (MotorsikLOAN) สินเชื่อเพื่อคนมีรถ คาร์ ฟอร์แคช (Car4Cash) และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น ในปี 64 ได้เปิดบริการโมบายแอปพลิเคชัน "Zuki" เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าฟิลิปปินส์ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในปี 2565 ยังได้ขยายการให้บริการสินเชื่อเพื่อพนักงานบริษัทและสินเชื่อเงินเดือนล่วงหน้าหรือ eSALAD และประกันที่ต่อเนื่องจากสินเชื่อ รวมทั้งขยายช่องทางการให้บริการผ่านพันธมิตรตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และร้านค้าที่ให้บริการสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระสินค้าอีกด้วย
"แม้ว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายจากอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กรุงศรีพร้อมใช้ความเชี่ยวชาญในตลาดสินเชื่อเพื่อรายย่อย ในการสนับสนุนการเติบโตของ SBF ในประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงการมีเครือข่ายและความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจของ MUFG ที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศและสร้างโอกาสให้ลูกค้ากรุงศรีขยายธุรกิจในภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การเปิดโอกาสให้มีการพบปะเจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการในอาเซียนผ่านเครือข่ายและบริการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การเชื่อมต่อโครงข่ายธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศ การพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของลูกค้าเป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงการทำหน้าที่เป็นพันธมิตรที่ให้บริการข้อมูล ความรู้และคำปรึกษาทางการเงินแบบครบวงจร เพื่อมุ่งสู่การเป็น "สถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน" อย่างแท้จริง" นายพงษ์อนันต์ กล่าว