บมจ.ริช เอเชีย สตีล(RICH) ชี้แจงข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือเลขที่ บจ.133/2551 ลงวันที่ 3 เมษายน 2551 สอบถามเกี่ยวกับงบการเงิน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตปรากฏ
รายการเงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อค้า ราคาทุน 49.39 ล้านบาท มีผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง 11.50 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อผลขาดทุนสุทธิของบริษัท
รวมทั้งปรากฏรายการเงินกู้ยืมระยะสั้นจากบริษัทหลักทรัพย์ 24.77 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.75 ต่อปี โดยที่บริษัทยังคงมีขาดทุนสุทธิ 92.14 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ติดลบสุทธิ 294.31 ล้านบาท
และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้เพิ่มทุนจาก 500 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท เพื่อระดมทุนจำนวน 1,000 ล้านบาท ไปชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน 300 ล้านบาท และเป็นเงินทุนหมุนเวียน 700 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการใช้เงินทุนเพื่อรองรับการประกอบธุรกิจหลักของบริษัท
ทั้งนี้ ผู้บริหาร RICH ชี้แจงว่า นโยบายการลงทุน ขั้นตอนการพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ รวมทั้งผู้มีอำนาจอนุมัติและวงเงินลงทุน จะลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บวกความเสี่ยง เป็นหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีโดยพิจารณาทั้งผลประกอบการที่ผ่านมาและ/หรือแผนการลงทุนของบริษัทนั้นๆ ในอนาคต และบริษัทที่มีแผนในการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจและแนวโน้มของหลักทรัพย์เพื่อค้านั้นๆ
บริษัทกำหนดให้หลักทรัพย์เพื่อค้าที่ทำการ ซื้อขาย ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 6 หลักทรัพย์ และได้มอบหมายให้กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเป็นผู้มีอำนาจในการทำธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อค้า พร้อมทั้งกำหนดวงเงินซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ต้องไม่เกินกว่า 50 ล้านบาท
บริษัทมีนโยบายการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนในหลักทรัพย์ โดยจัด Portfolio เพื่อพิจารณาความเสี่ยงของหลักทรัพย์ในแต่ละส่วน ตามลักษณะของธุรกิจแต่ละประเภท พร้อมกับแนวโน้มอุตสาหกรรมของธุรกิจนั้นๆ โดยคำนึงถึงผลประกอบการที่ผ่านมาและทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคต รวมทั้งข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อหลักทรัพย์นั้นก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่ผ่านมานั้นบริษัทไม่มีลักษณะการดำเนินการลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อ ค้าอันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในผลประโยชน์แต่อย่างใด อีกทั้งผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ส่วนความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมในการเงินไปลงทุนหลักทรัพย์เพื่อค้า โดยมีการกู้ยืมเงินมาเพื่อนำมาลงทุนดังกล่าวนั้น เนื่องจากในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2550 อุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมท่อเหล็กมีอัตราเติบโตที่ต่ำ ประกอบกับผลประกอบการของบริษัทมีผลขาดทุนจำนวน 175.36 ล้านบาท(หลังปรับปรุงงบการเงิน)
ดังนั้น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ทางบริษัท ฯพิจารณาถึงผลคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีปัจจัยที่นำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจคือ อัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในปี 2550 ซึ่งเมื่อบริษัทฯได้ประเมินความความเสี่ยงบวกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แล้วเห็นว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถทำกำไรได้
โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 บริษัทมีกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนหลักทรัพย์เพื่อค้า เป็นจำนวน 1.48 ล้านบาท หรือเท่ากับ 23.65% ในระยะเวลา 1.5 เดือนของการลงทุนซึ่งก็สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อนำมาลงทุน
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--