นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน ก.พ.66 พบว่า "ดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 121.13 ปรับตัวลดลง 24.3% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง"
นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการเลือกตั้งในประเทศและการไหลเข้าของเงินทุน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดของ Covid-19 หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น รองลงมาคือสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน และสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการเลือกตั้ง
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือน ก.พ.66 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
- ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค.66) อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ลดลง 24.3% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 121.13
- ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบัน อยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว"
- หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)
- หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเหมืองแร่ (MINE)
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยว
- ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ผลสำรวจ ณ เดือน ก.พ.66 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับลดลง โดยนักลงทุนบุคคลปรับลด 27.0% อยู่ที่ระดับ 121.62 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 9.1% อยู่ที่ระดับ 125.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 28.2% อยู่ที่ระดับ 107.69 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 23.6% อยู่ที่ระดับ 122.22
ในช่วงเดือน ก.พ.66 SET Index ปรับตัวลดลงโดยเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก นักลงทุนมีความกังวลว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องหลังจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการที่เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศห่างกันชัดเจน
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้โดยตัวเลข GDP ล่าสุดที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประกาศว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/65 ขยายตัวเพียง 1.4% ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 4.5% ส่งผลให้ทั้งปี 65 ขยายตัวแค่ 2.6% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ถึง 3.2%
SET Index ณ สิ้นเดือน ก.พ.66 ปิดที่ 1,622.35 จุด ปรับตัวลดลง 2.9% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 43,562 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 66 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 24,565 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยและนโยบายการเงินของเฟด ปัญหาการจ้างงานจากแนวโน้มการลดคนอย่างต่อเนื่องของบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งยืดเยื้อมานานการ 1 ปี และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนจากปัญหา "บอลลูนจีน" ที่รุกล้ำน่านฟ้าสหรัฐฯ ซึ่งอาจลุกลามไปเรื่องสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ
ส่วนปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นและนักท่องเที่ยวไทยจากมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับสู่ช่วงก่อน Covid-19 ได้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการเลือกตั้ง