บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์นี้แกว่งตัว Sideway Down จากแรงกดดันเฟดมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือน มี.ค.นี้ จึงให้กรอบดัชนี 1,600-1,650 จุด แนะลงทุนในหุ้นได้ประโยชน์จากมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 เปิดจอง ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ? 26 เมษายน 2566 ได้แก่ MINT, CENTEL, ERW, SPA, AU และ SHR
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยปรับตัวในลักษณะ Sideway Down โดยมีแรงกดดันจาก FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมี.ค. ประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีที่พุ่งขึ้นทะลุระดับ 4% ขณะที่ปัจจัยในประเทศมีแรงหนุนจากการที่รัฐเลื่อนเก็บภาษีขายหุ้น จึงคาดการณ์กรอบดัชนีไว้ที่ 1,600-1,650 จุด
อีกทั้งผู้นำสหรัฐประกาศข้อจำกัดการส่งออกสินค้าต่อบริษัทจีนอีกหลายสิบแห่งที่ดำเนินกิจกรรมที่ขัดต่อความมั่นคงของชาติและผลประโยชน์ด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ และทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนกล่าวเป็นนัยว่าสหรัฐเป็นต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเผชิญกับผันผวนอย่างหนัก ซึ่งถือเป็นการกดดันให้สหรัฐเป็นผู้รับผิดชอบต่อกรณีที่ประเทศยากจนที่สุดบางประเทศต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านหนี้สิน
รวมทั้งการที่รัฐบาลจีนกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ปี 66 ประมาณ 5% ลดลงจากเป้า 5.5% ในปี 65 ขณะที่ GDP ปี 65 ของจีนเติบโต 3% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมาก และเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตา อาทิ
ปัจจัยต่างประเทศ วันนี้ (8 มี.ค.) สหรัฐรายงานตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนม.ค. สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ และที่สำคัญนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐมีกำหนดแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎร์
9 มี.ค. จีน รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.พ., สหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
และวันที่ 21-22 มี.ค. กำหนดการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED)
ส่วนปัจจัยในประเทศ จับตาวันที่ 29 มี.ค.กำหนดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2/2566
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์ลงทุนหุ้นได้ประโยชน์จากมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 เปิดจองระหว่างวันที่ 7 มี.ค.-26 เม.ย.66 ได้แก่ MINT, CENTEL, ERW, SPA, AU และ SHR
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินภาพรวมราคาทองคำในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาราคาทองคำอ่อนตัวลง หลังประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในเดือน ม.ค. (ประกาศเดือน ก.พ.) ซึ่งส่วนใหญ่ดีกว่าคาดการณ์
เริ่มจากภาคแรงงาน ดัชนีฝ่ายจัดซื้อและแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวระดับสูง ส่งผลให้ตลาดเริ่มกลับมาให้น้ำหนัก 30% ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ขณะที่ช่วงก่อนหน้าให้น้ำหนักเพียง 5% สะท้อนผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านที่ระดับ 4.0% สอดคล้องกับดัชนีดอลลาร์ที่ปรับตัวขึ้น 105.35 ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่ากดดดันราคาทองคำอ่อนตัวลงทำจุดต่ำสุดบริเวณ 1,806 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ส่วน SPDR เข้าซื้อเล็กน้อยที่ระดับ 0.55 ตัน
ส่วนในเดือน มี.ค. มองว่าตลาดยังจับตาเงินเฟ้อเดือน ก.พ.และตัวเลขภาคแรงงาน หาก 2 ตัวเลขดังกล่าวยังแข็งแกร่ง อาจเป็นเหตุให้ตลาดกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยในที่ประชุม FOMC 21-22 มี.ค.นี้ ขณะที่มุมมองเฟดสาขาแอตแลนตายังหนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% เนื่องจากต้องการให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอความร้อนแรงลง โดยหากขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจรุนแรง เนื่องจากปัจจุบันกรอบดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% คาดเงินเฟ้อจะเริ่มอ่อนตัวลง ส่วนสัญญาณ SPDR ในต้นเดือนมีนาคมเริ่มกลับมาเทขายกว่า 4.92 ตัน
ฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบ 1,775- 1,875 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ เนื่องจากยังไร้ปัจจัยหนุนใหม่ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวได้เป็นปัจจัยหนุนให้เฟดทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อสกัดเงินเฟ้อตามกรอบที่วางไว้ระดับ 2.0% คำแนะนำซื้อขายตามกรอบที่ให้ไว้