นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) คนใหม่ ชูแนวคิด "TOP for The Great Future" มุ่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อสร้างอนาคตที่ยิ่งใหญ่ พร้อมสานต่อวิสัยทัศน์ "สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน : Sustainable Energy and Chemicals" โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์หลัก 3V ได้แก่
1. Value Maximization ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Products)
2. Value Enhancement เสริมความแข็งแกร่งในประเทศ ขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค รองรับการเติบโตของธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในอนาคต รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น
3. Value Diversification ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆโดยเฉพาะธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (High Value Business) และ ธุรกิจ New S-Curve อื่นๆ ให้สอดคล้องต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก
บริษัทประกาศเป้าหมายปี 73 สัดส่วนกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอยู่ที่ 40% ใกล้เคียงกับปัจจุบัน, ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ต่อยอดจากปิโตรเคมี 30% ลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 40%, ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ๆ 25% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจ New S-Curve ที่ 10% และธุรกิจไฟฟ้า 5% ลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 10% เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้การดำเนินงานของธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Products) บริษัทฯ จะเร่งดำเนินการในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้างไปแล้วกว่า 90.1% คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ในทุกหน่วยการผลิตได้ในไตรมาส 1/68 ส่งผลทำให้กำลังการผลิตจะปรับตัวขึ้นแตะ 4 แสนบาร์เรล/วัน จากเดิมที่ยังไม่มีโครงการ CFP มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.75 แสนบาร์เรล/วัน แต่จากการเร่งดำเนินการ บริษัทฯ คาดจะมีหน่วยการผลิตน้ำมันยูโร 5 แล้วเสร็จก่อนกำหนด หรือคาดจะ COD ได้ในไตรมาส 1/67 อีกทั้งยังช่วยหนุนค่าการกลั่น GRM เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
ขณะที่จะมุ่งผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง อย่าง F44 Jet Fuel โดยปัจจุบัน TOP มีสัดส่วนการขายน้ำมันอากาศยาน (Jet) มากที่สุดในประเทศไทยถึง 50%, น้ำมันยางรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ (TDAE/LRAE), ยางมะตอย (Emulsified Asphalt) และน้ำมันยาง (150LFO) เป็นต้น
ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ต่อยอดจากปิโตรเคมี (Petchem&HVPs) จะต่อยอด Value Chain ทั้งอะโรเมติกส์และโอเลฟินส์ โดยวางเป้าหมาย 3 ขั้นตอนสู่ HVPs ได้แก่ 1. พัฒนาโปรดักส์ โดยจะมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ LAB, High Purity Toluene และ New HVPs 2. Value Chain Extension เช่น Specialty Polymer และ New HVPs 3. Solution Provider เช่น Formulator, Compounder Converter และ New HVPs
ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ๆ (High Value Business) จากการศึกษาบริษัทฯ ได้ข้อสรุปว่าจะมุ่งไปสู่ธุรกิจสารเคมีที่ใช้เพื่อการยับยั้งและกำจัดเชื้อโรครวมถึงสารลดแรงตึงผิวที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (Disinfectants & Surfactants) ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างมาก และเข้ามาตอบโจทย์เทรนด์ Personal care, Home care เป็นต้น โดยจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ คาดจะเห็นความชัดเจนได้ในปีนี้
ส่วนธุรกิจ New S-Curve บริษัทฯ ได้มุ่งสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต Biojet, Bio-Chemicals & Bio-Plastics อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะสามารถทำ Bio LAB ได้หรือไม่, H2/CCU/CCS ศึกษาใช้พลังงานทดแทนผลิตไฮโดรเจน โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการลงทุนในสตาร์ทอัพไปบ้างแล้ว และ CVC ลงทุนในสตาร์ทอัพ บริษัทฯ ยังเตรียมความพร้อมนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันพื้นฐาน อะโรเมติกส์ และโอเลฟินส์ ขยายตลาดไปต่างประเทศในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย และยังวางเป้าหมายขยายไปทั่วโลกในอนาคต
นายบัณฑิต กล่าวว่า บริษัทฯ วางงบลงทุน 5 ปี (ปี 66-70) ไว้ที่ 2,000 ล้านเหรียญฯ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจตามยุทธศาสตร์ข้างต้น โดยแบ่งเป็น 1,000 ล้านเหรียญฯ จะใช้ในช่วงระยะ 3 ปีนี้ (66-68) ซึ่ง 50% จะใช้รองรับโครงการ CFP และโรงไฟฟ้า SPP คาด COD ได้ในเดือนเม.ย.นี้ ส่วนอีกประมาณ 270 ล้านเหรียญฯ จะลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมี ขยายโรงงานแห่งที่ 2 ในอินโดนีเซีย คาดสรุปได้ในช่วงกลางปีถึงปลายปีนี้ และอีก 220 ล้านเหรียญฯ จะใช้ปรับปรุงในเรื่องต่างๆ และการลงทุนในสตาร์ทอัพ
ขณะที่อีก 1,000 ล้านเหรียญ จะใช้ในการรีไฟแนนซ์หุ้นกู้และเงินกู้ที่มีอยู่ 800-900 ล้านเหรียญฯ
สำหรับปีนี้บริษัทฯ จะใช้เงินลงทุนราว 570 ล้านเหรียญฯ หรือราว 20,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้ในโครงการ CFP
ทิศทางการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทยอมรับว่ารายได้จะปรับตัวลงเหลือราว 4 แสนล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 5.3 แสนล้านบาท เป็นผลมาจากค่าการกลั่น GRM สิงคโปร์กลับมาสู่ระดับปกติ โดยปัจจุบันอยู่ที่ 7-8 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่อยู่ที่ 6-8 เหรียญ/บาร์เรล แต่ยังต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ 10.7 เหรียญ/บาร์เรล
ประกอบกับคาดราคาน้ำมันดิบครึ่งแรกของปีนี้น่าจะอยู่ในกรอบ 80-85 เหรียญ/บาร์เรล ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะมีแรงหนุนจากจีนเปิดประเทศ แต่เศรษฐกิจโดยรวมยังคงมีความไม่แน่นอนสูงอยู่
ขณะที่คาดปริมาณการขายน้ำมันปีนี้โต 4-5% โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานที่คาดโตได้กว่า 50% จากการเดินทางหนุน และความต้องการใช้น้ำมันที่เติบโตขึ้น อีกทั้งในปีนี้ TOP จะไม่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ทำให้เดินเครื่องกำลังการผลิตได้เต็ม 100% ประมาณ 3 แสนบาร์เรล/วัน