โบรกเกอร์ มองหุ้นบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ยังน่าลงทุนในระยะยาว คาดปี 51 น่าจะมีกำไรสุทธิดีขึ้น เนื่องจากโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพน้ำมัน ทำให้ค่าการกลั่น(GRM)ในปีนี้น่าจะดีขึ้น และ ปตท (PTT) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นอีกเป็น 33.69% จากเดิม 31.5% และมีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนยี่งทำให้เกิดความมั่นใจที่มีส่วนเข้าสนับสนุนบริษัท ประกอบกับราคาหุ้นปัจจุบันยังมี upside gain อยู่สูง
แต่ราคาหุ้น IRPC ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.จนถึงปัจจุบันแกว่งตัวกรอบแคบๆ แทบจะทรงตัว เล่นกันอยู่ในช่วง 5.70-5.80 บาท ราคาขณะนี้เคลื่อนไหว 5.85 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวานนี้ เป็นเพราะหุ้น IRPC ยังมีความเสียงด้านกฎหมายที่คดีฟ้องร้องหลายคดียังไม่สิ้นสุด นักลงทุนจึงเลี่ยงไปเล่นตัวอื่น
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)
บล.ฟิลลิป ซื้อ 6.70
บล.เอเซียพลัส ซื้อ 6.70
บล.กสิกรไทย ซื้อ 6.60
บล.เกียรตินาคิน ซื้อ 6.40
บล.นครหลวงไทย ขาย 4.90
นายภูวดล ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ระยะนี้ราคาห้น IRPC จะแกว่งตัวในช่วง 5.70-5.80 บาท ซึ่งเป็นกรอบแนวรับ แต่ก็โอกาสปรับขึ้นตามหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีแม้คงจะขึ้นได้ไม่มาก เพราะมีหุ้นตัวอื่นที่สามารถเลือกลงทุนได้ดีกว่า เช่น PTTAR TOP เป็นต้น
IRPC มีความเสี่ยงเรื่องข้อกฎหมายที่ยังมีคดีความยังไม่สิ้นสุด จากประเด็นการนำหุ้นผู้ถือหุ้นเดิมไปขายให้กับ บมจ.ปตท(PTT)และพันธมิตร แม้ว่าผลประกอบการจะออกมาดีและระยะยาวก็ยังน่าลงทุน ราคายังไม่แพงและยังมี upside สูง จากราคาเป้าหมายที่ 6.70 บาท
"เป็นหุ้นที่ยังมีความเสี่ยงด้านข้อกฎหมาย นักลงทุนก็เลยหลีกเลี่ยง คนไม่ค่อยเลือกเล่น โดยในกลุ่มปิโตรเคมีพลังงานยังมีตัวเล่นเยอะ"นายภูวดล กล่าว
ด้านบทวิเคราะห์ของ บล.กสิกรไทย ระบุว่า อาจปรับประมาณการกำไรสุทธิ IRPC ปีนี้เพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ และราคาปัจจุบันมี upside จากราคาเป้าหมายอยู่ 15% ขณะที่ค่าการกลั่น(GRM)มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในไตรมาส 2/51 จะส่งผลบวกให้ IRPC แต่ไม่มากเท่ารายอื่น
นอกจากนี้ การที่ PTT เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน IRPC เป็น 33.69%(ณ 19 มี.ค.51)จากเดิมถือ 31.5%(ณ 2 ม.ค.51)หลังจากที่หมดไซเรนท์พีเรียด โดยซื้อจากเจ้าหนี้ที่ขายออกไป 2% เป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนว่า PTT ยังคงมีความตั้งใจที่จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน IRPC นอกจากนี้คาดว่าเมื่อ PTT เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจนถึงระดับที่เหมาะสมแล้ว(ประมาณ 50%)ก็คงจะเข้ามามีส่วนสนับสนุนโครงการต่างๆของ IRPC มากขึ้น ทั้งนี้ PTT ยังคงมีสิทธิในการเข้าซื้อหุ้นทั้งจาก กบข. ธนาคารออมสิน และกองทุนวายุภักษ์ 1
ส่วนค่าการกลั่นในไตรมาส 2/51 คาดปรับตัวดีขึ้น หลังจาก IRPC ได้ว่าจ้างให้ SGS(Shell Global Solution)เข้ามาศึกษาหาวิธีการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท น่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 0.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือปีละประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (630 ล้านบาท) เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2/51 เป็นต้นไป และอาจส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 2551 (1.19 หมื่นล้านบาท)สูงกว่าคาดการณ์ประมาณ 5%
ขณะที่ บล.นครหลวงไทย กลับประเมินว่า การเข้าสู่วัฏจักรขาลงของธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นมีแนวโน้มจะกดดันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์(สเปรด)ของ IRPC มากที่สุดจากการที่โรงกลั่นไม่ได้มีความสลับซับซ้อนเท่า TOP และ PTTAR ขณะที่ ธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์จะมีแรงกดดันด้านส่วนต่างราคามากกว่า Gas base producer
ทั้งนี้ โครงการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพหลายโครงการจะช่วยชะลอการลดลงของ Integrated GRM ช่วงปี 2551-2554 ได้ประมาณ 0.5-2.84 เหรียญ/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม คาดว่า GRM ที่ระดับ 11.50 เหรียญ/บาร์เรลในปี 2550 จะยังคงปรับลดลงสู่ระดับ 10.74 เหรียญ/บาร์เรล ในปี 2551 และ 8.35-9.01 เหรียญ/บาร์เรลในช่วง Downturn ปี 2552-2554 สะท้อนสู่การปรับลดประมาณการกำไรปี 2551-2554 ลง 29%-39% จึงประเมินมูลค่าเหมาะสมใหม่ IRPC ได้ที่ 4.90 บาท ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน 17%
และยังคาดกำไรในไตรมาส 1/51 ที่ 2,669 ล้านบาท ลดลง 24% จากปีก่อนไตรมาสเดียวกันที่มีการบันทึกกำไรพิเศษมากกว่า ทั้งนี้ SCIBS คาด Earning Cycle ของ IRPC จะสูงสุดของปีนี้ในช่วงไตรมาส 2/51 และเริ่มเห็นการอ่อนตัวที่ชัดเจนลงหลังช่วงครึ่งหลังปี 51
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--