ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.เจมาร์ท (JMART) ที่ระดับ "BBB+" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ "BBB" พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 3 ปีของบริษัทที่ระดับ "BBB" ด้วย ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรนั้นสะท้อนถึงความด้อยกว่าในเชิงโครงสร้างของภาระหนี้ของเงินกู้ยืมไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเมื่อเทียบกับสิทธิเรียกร้องในการชำระคืนหนี้ของบริษัทย่อยต่าง ๆ ของบริษัท
อันดับเครดิตองค์กรสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ดีของกลุ่มเจมาร์ท (JMART Group) โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้ที่แข็งแกร่งของบริษัทลูกหลักทั้ง 3 รายซึ่งได้แก่ บมจ.เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) (อันดับเครดิต "BBB+/Stable") ซึ่งดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด (J-Mobile) ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท (J) หรือ J-Asset ซึ่งดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการก่อหนี้ของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การลงทุนซื้อกิจการที่รวดเร็วและหลากหลาย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบริษัทได้เร่งการลงทุนซื้อกิจการในธุรกิจต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ที่เกิดจากการลงทุนใหม่ ๆ นั้นยังคงคิดเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก
ในปี 2565 บริษัทใช้เงินลงทุนไปในการซื้อกิจการของบริษัทต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 3.2 พันล้านบาทและมีส่วนแบ่งกำไรในบริษัทที่ลงทุนจำนวน 344 ล้านบาทหรือคิดเป็น 11% ของกำไรก่อนภาษี ส่วนในปี 2566 นั้นบริษัทตั้งงบประมาณลงทุนทั้งสิ้นที่จำนวนประมาณ 3 พันล้านบาทซึ่งรวมเงินลงทุนจำนวน 648 ล้านบาทที่จะใช้ลงทุนในหุ้นสามัญของ บมจ.พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป (PRTR) ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการด้านทรัพยากรบุคคล โดยคาดว่าการลงทุนจะเสร็จสิ้นเมื่อบริษัทดังกล่าวมีการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในเดือนมีนาคม 2566
การลงทุนที่สำคัญในปี 2565 คือการซื้อหุ้นจำนวน 30% ใน บริษัท บีเอ็นเอ็น เรสเตอรองท์ จำกัด (BNN) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการร้านอาหารในแบรนด์ "สุกี้ตี๋น้อย" โดยใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.2 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 37.5% ของเงินลงทุนรวมในปี 2565
การลงทุนอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่ในปี 2565 นั้นประกอบไปด้วยการลงทุนในสัดส่วน 10% ใน บมจ.เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ (NINE) และ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำตาล นอกจากนี้ ยังมีการร่วมทุนโดยใช้เงินจำนวน 5 พันล้านบาทระหว่าง บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด (JAM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ JMT กับ บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในชื่อ บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) อีกด้วย
อัตราการก่อหนี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทริสเรทติ้งมองว่าในระยะยาวบริษัทจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุนที่ได้ทำไป แต่ในระยะสั้นนั้นอัตราการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากแผนการลงทุนปริมาณมากอาจจะส่งผลในด้านลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ โดยในปี 2565 อัตราการก่อหนี้ของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) นั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.5 เท่าจาก 1.2 เท่าในปี 2564 ซึ่งยังเป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งคาดหมายไว้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นนั้นมาจากการลงทุนของบริษัทและการขยายธุรกิจของบริษัทลูกต่าง ๆ ในกลุ่ม
เมื่อพิจารณาจากแผนการลงทุนในอนาคตทั้งของบริษัทเองและของ JMT รวมทั้งจากการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าอัตราการจัดเก็บเงินของ JMT จะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในปี 2565 โดยไม่มีการเพิ่มทุนอีกในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินกว่า 3.5 เท่าในระยะ 3 ปีข้างหน้าซึ่งอาจจะส่งผลในด้านลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน
JMT ยังคงเป็นบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจหลักของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพภายใต้การดำเนินงานของ JMT นั้นจะยังคงเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดและเป็นบริษัทหลักในการสร้างกำไรซึ่งช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่มเจมาร์ท ทั้งนี้ ในปี 2565 JMT มีกำไรสุทธิที่ระดับ 1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็นประมาณ 64% ของกำไรสุทธิรวมของกลุ่มเจมาร์ท นอกจากผลกำไรของ JMT ที่ช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่มเจมาร์ทแล้ว การลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจำนวนประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปียังบ่งชี้ถึงความสำคัญที่ทำให้ JMT เป็นบริษัทลูกหลัก (Core Subsidiary) ของกลุ่มเจมาร์ทในสายตาของทริสเรทติ้งอีกด้วย
ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา JMT มีสัดส่วนสินทรัพย์ต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าหรือคิดเป็น 61% จาก 32% ในปี 2560 ถึงแม้ว่าปริมาณการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในปี 2565 จะลดลงเหลือ 4.6 พันล้านบาท แต่ทริสเรทติ้งยังมองว่าการลงทุนในอนาคตของ JMT จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุปทานของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่น่าจะถูกนำออกจำหน่ายโดยธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นหลังจากการสิ้นสุดโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนจะทำให้สัดส่วนสินทรัพย์ของ JMT น่าจะยังคงเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อสินทรัพย์รวมของกลุ่ม
ความพยายามในการเพิ่มความร่วมมือภายในกลุ่มให้มากยิ่งขึ้น ธุรกิจของบริษัทประกอบไปด้วยธุรกิจค้าปลีก (Retail) และธุรกิจการเงิน (Finance) เป็นหลัก สถานะความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทถูกกดดันจากการพึ่งพารายได้และกระแสเงินสดจากบริษัทในกลุ่มเพียงไม่กี่แห่งถึงแม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลายก็ตาม อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงพยายามเพิ่มเครือข่ายและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ไปพร้อมกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือกันระหว่างบริษัทลูกและบริษัทร่วมให้มากยิ่งขึ้น กลยุทธ์ดังกล่าวอาจจะทำให้สถานะความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาวหากความร่วมมือเหล่านั้นทำให้รายได้และกระแสเงินสดปรับตัวดีและมีความหลากหลายยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ แผนการผสานความร่วมมือภายในกลุ่มมีดังต่อไปนี้ 1) JMT จะเป็นผู้ให้บริการติดตามหนี้ให้แก่ บริษัท เคบีเจ แคปปิตอล จำกัด (KBJ Capital อันดับเครดิต "A-/Stable") และ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER อันดับเครดิต "BBB/Stable") 2) J-Asset จะให้การสนับสนุน JMT ในการปรับปรุงและจำหน่ายสินทรัพย์รอการขาย และ 3) การใช้พื้นที่เช่าร่วมกันในร้านขายปลีกในระหว่างบริษัทลูกต่าง ๆ ปัจจุบัน JMT กับ KB J Capital ได้มีการร่วมมือกันในการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่กำลังฟื้นตัวกลับมา ภายในกลุ่มเจมาร์ทนั้น บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด (J-Mobile) ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากแผนการผสานความร่วมมือภายในกลุ่มซึ่งเห็นได้จากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในปี 2565 ยอดขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมรายได้จากกิจกรรมส่งเสริมการขายของ J-Mobile เพิ่มขึ้น 16.9% จากปีก่อนหน้าโดยมาอยู่ที่ระดับ 9.6 พันล้านบาท J-Mobile มีกำไรสุทธิจำนวน 354 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งปรับเพิ่มขึ้น 77% จากปีก่อนหน้า ซึ่งการปรับตัวที่ดีขึ้นนั้นมาจากการเน้นการจัดจำหน่ายผ่านทางเครือข่ายของ SINGER รวมทั้งการมีช่องทางออนไลน์และการขยายตัวของร้านค้าร่วมของบริษัทภายในกลุ่มเจมาร์ท (Synergy Shop) ซึ่งในปี 2565 นั้น J-Mobile มีการเปิดสาขาใหม่จำนวน 78 แห่งในขณะที่ SINGER ก็มีการขยายสาขาแฟรนไชส์ด้วยเช่นกัน
การจำหน่ายสินค้าของ J-Mobile โดยผ่านเฉพาะเครือข่ายของ SINGER นั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านบาทในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 83.9% จากปี 2564 รวมไปถึงยอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกจำนวน 517 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้น 29% จากปีที่แล้วซึ่งเป็นผลมาจากการให้บริการสินเชื่อรายย่อยของ SINGER และ KBJ Capital อีกด้วย ในอนาคตทริสเรทติ้งมองว่าแผนกลยุทธ์ของ J-Mobile ในการเพิ่มประเภทของสินค้าที่จำหน่ายไปยังอุปกรณ์ขนาดเล็ก (Gadget) และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โน้ตบุ๊ค โทรทัศน์ และอื่น ๆ นั้นน่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้มากยิ่งขึ้นและจะเพิ่มผลกำไรทางธุรกิจได้บ้าง
กำไรจาก J-Asset ปรับตัวดีขึ้น ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ J-Asset ในปี 2565 ช่วยกระจายแหล่งที่มาของรายได้ของบริษัทได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ การพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยในเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทในระยะที่ยาวนานกว่านี้ รายได้ของ J-Asset ปรับตัวดีขึ้นในทุกธุรกิจจากที่เคยมีผลการดำเนินงานอ่อนแอลงในช่วงปี 2563-2564 โดยสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ทั้งนี้ ในปี 2565 รายได้รวมของ J-Asset เพิ่มขึ้น 28.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วมาอยู่ที่ 558 ล้านบาทจากการรับรู้รายได้ค่าเช่าเต็มปีจากศูนย์การค้าชุมชน "JAS Green Village Kubon" และกำไรจากการตีมูลค่าของสินทรัพย์ลงทุนใหม่ โดย J-Asset มีกำไรสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นเป็น 202 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าแผนกลยุทธ์ของ J-Asset ที่จะมุ่งเน้นพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าชุมชนนั้นจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างช้า ๆ ได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าแผนการขยายศูนย์การค้าชุมชนออกไปยังต่างจังหวัดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านั้นยังมีความ
ท้าทายในด้านพฤติกรรมของลูกค้าที่อาจจะแตกต่างออกไปโดยในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าโครงการศูนย์การค้าชุมชนในพื้นที่ต่างจังหวัดของ J-Asset ที่ผ่านมานั้นยังไม่ค่อยได้รับการตอบรับดีนัก ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งยังคงมีความหวังกับโครงการ "ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ SENERA" ที่อยู่ใกล้กับ JAS Green Village Kubon ที่น่าจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้แก่บริษัทได้โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2566
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทจะยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยแหล่งสภาพคล่องส่วนใหญ่ตามงบการเงินรวมจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 5.0-5.5 พันล้านบาทในปี 2566 รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2565 อีกจำนวนประมาณ 9.4 พันล้านบาทจากการเพิ่มทุนในปี 2564 ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินงานและการขยายธุรกิจของบริษัทได้ ในขณะที่บริษัทมีความต้องการในการใช้เงินทุนซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ประมาณ 1 พันล้านบาท ตลอดจนเงินลงทุนซื้อกิจการใหม่จำนวน 3 พันล้านบาท และเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารโดย JMT อีกประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี
ในการนี้ ทริสเรทติ้งไม่มีความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของบริษัทในระยะ 12 เดือนข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกันยายน 2566 จำนวน 1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีข้อสังเกตว่าบริษัทควรมีการขยายวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่หลากหลายขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนความต้องการด้านสภาพคล่องในยามที่ตลาดทุนมีความโกลาหลผิดปกติซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่สูงขึ้นได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ในระยะ 3 ปีข้างหน้า (ปี 2566-2568) ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทเจมาร์ทดังต่อไปนี้
- บริษัทจะมีรายได้ที่ระดับ 1.6-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปี
- อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจจัดเก็บหนี้จะอยู่ที่ระดับ 70% ส่วนของธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะอยู่ที่ระดับ 10%-15% และของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ระดับ 25%-30%
- เงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปีและเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารจะอยู่ที่ 8 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า JMT จะสามารถรักษาระดับผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพเอาไว้ได้ต่อไป ในขณะที่สถานะในการแข่งขันในธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทจะยังคงเดิมโดยบริษัทจะยังคงรักษาภาระหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดและแหล่งรายได้ที่กระจายตัวยิ่งขึ้นเนื่องจากผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทลูกรายอื่น ๆ และส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตหรือแนวโน้มนั้นอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทเจมาร์ทสามารถยกระดับสถานะความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลูกต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ยังคงรักษาภาระหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเอาไว้ได้ ในขณะที่ความกดดันทางด้านลบต่ออันดับเครดิตจะเกิดขึ้นจากผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในส่วนของบริษัทเองหรือในส่วนของบริษัทลูกต่าง ๆ หรือจากการลงทุนในเชิงรุกซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จนอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่สูงเกินกว่าระดับ 3.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง