นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีวิกฤติธนาคาร Silicon Vallay Bank (SVB) บลจ.ยูโอบี อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบที่แน่นอนจากลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ SVB ผ่าน Master fund ในกอง FIF แต่มีอยู่ในสัดส่วนน้อยมาก ของมูลค่าการลงทุนใน Master fund ซึ่งไม่ใช่การลงทุนที่มีสาระสำคัญ โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยกระทบกับภาพรวมตลาดมากกว่า
ขณะเดียวกัน บลจ.ยูโอบี ได้เตรียมสภาพคล่องพร้อมไว้ไม่น้อยกว่า 40% เพื่อรองรับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
การล้มของ SVB มองว่าแม้จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัว เพราะ SVB มีฐานลูกค้าไม่เหมือน Retail Bank ทั่วไป แต่เป็นกลุ่มเทคเป็นส่วนใหญ่ และปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากที่ SVB นำเงินลงทุน Mismatch ผิดแปลกไปจากปกติ โดยลงทุนตราสารหนี้ระยะยาว แต่เมื่อต้องการขายก่อนครบกำหนดจึงเกิดผลขาดทุน ทำให้แบงก์ขาดสภาพคล่อง แต่กรณีนี้ทางการสหรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาได้เร็วมาก แสดงว่าเป็นเรื่องที่ทางการจับตาอยู่ แม้จะไม่ใช่เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหา แต่การเข้าไปของทางการสหรัฐเพื่อไม่ให้กระทบนักลงทุน
นอกจากนั้น ผลดีที่เกิดจากรณีทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเดิมคาดว่าการประชุมในรอบเดือนมี.ค.นี้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เป็นคาดว่าเฟดจะปรับขึ้น 0.25% หรืออาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย เพราะเฟดไม่ได้มองเพียงการเติบโตของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องดูแลระบบการเงินด้วย
นายวนา ยังให้มุมมองต่อการลงทุนในปีนี้ว่า กลยุทธ์ของบลจ.ยูโอบี ชอบตราสารหนี้มากกว่าหุ้น เพราะมีโอกาสเฟดจะคงดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ย ส่วนหุ้นให้น้ำหนัก Neutral
สำหรับหุ้นไทย มองเป้าหมาย SET Index ปีนี้ไว้ที่ 1,700 จุด P/E 16 เท่า EPS 104 บาท โดยระดับ 1,600 จุดหรือต่ำกว่านั้นเป็นจุดที่น่าสะสม ซึ่งเศรษฐกิจไทยได้รับผลดีจากการเปิดประเทศของจีน และการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น หากการเลือกตั้งราบรื่นมีการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วก็จะเป็น upside surprise อย่างไรก็ตาม ตลาดก็ยังมี Downside risk เรื่องผลประกอบการลดลง และเรื่อง geopolitic
มุมมองภาพรวมการลงทุนในปี 66 นายวนา กล่าวว่า เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการกลับมาระบาดของโควิดในจีนที่ส่งผลต่อภาคการผลิต รวมไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ 65 โดยในไตรมาส 3/65 การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งกว่าคาด และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ สนับสนุนการบริโภคส่วนของภาคครัวเรือนที่ยังมีการจับจ่ายสูงขึ้น ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ตัวชี้วัดทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่ามีการชะลอตัว
ด้านเศรษฐกิจจีน ในไตรมาส 4/65 อยู่ในภาวะชะลอตัวจากการระบาดของโควิดหลายระลอก ทำให้ทางการจีนดำเนินมาตรการล็อกดาวน์หลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ผ่อนคลายมาตรการลงแล้ว จนถึงการเปิดประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนได้รับแรงหนุนทั้งจากการเปิดเมือง การผ่อนคลายนโยบายจากภาครัฐลดแรงกดดันต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และด้วยอุปสงค์รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นประกอบกับความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ภาคการผลิตของจีนเริ่มฟื้นตัว สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI : Purchasing Managers?Index) ภาคการผลิตและบริการของจีนในเดือน ม.ค.และ ก.พ.66 ที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกนั้น คาดว่าจะชะลอตัวลงจาก 3.4% ในปี 65 เหลือ 2.9% ในปี 66 ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นเป็น 3.1% ในปี 67 เฟดจะยังคงมีนโยบายการเงินเข้มงวดขึ้น โดยมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ 5% คาดว่าการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัวลงเช่นเดียวกับในยุโรป ขณะที่ภูมิภาคเอเชียจะแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น ด้วยอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีนและสายการผลิต (Supply chain)เริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ
ดังนั้น การจัดสรรการลงทุนยังคงเป็นไปด้วยความระมัดระวังโดยปัจจัยที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ
1) เงินเฟ้อซึ่งแม้ว่าจะอยู่ในขาลงและน่าจะผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว แต่คาดว่าจะคงอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
2)การใช้นโยบายทางการเงินและการคลังที่ต้องดำเนินการประสานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดหรือชะลอผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
3) ความเสี่ยงจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนและผลกระทบด้านพลังงานในยุโรป
บลจ.ยูโอบี ยังคงมีความเห็นว่า การสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าวลงได้ควรเน้นการกระจายความเสี่ยงในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศที่มีคุณภาพเพื่อรองรับความผันผวนของตลาด ขณะเดียวกันยังแนะนำให้แบ่งสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในหุ้นกลุ่มที่สามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีนที่เริ่มเปิดประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีน โดยการจัดสรรการลงทุนดังกล่าว เราเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงได้แม้ในช่วงเวลาที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง