นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจปี 66 เชื่อว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปี 65 ที่มีกำไรสุทธิ 3,010.52 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมเท่ากับ 9,515.10 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ธุรกิจงานรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) ยังเป็นตัวขับเคลื่อน และยังคงตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตแตะระดับ 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 66 ซึ่งบริษัทฯ มีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานทดแทน ทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลมอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มบริษัทยืนยันความพร้อมทางด้านการเงิน และสัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่สามารถรองรับการเติบโตและการลงทุนได้มากกว่า 40,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี เพื่อรองรับการเข้าร่วมการยื่นขอเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ขนาด 5 กิกะวัตต์
"กลุ่มบริษัทฯ มีเป้าหมายสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรในทุกกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ ทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานและนวัตกรรมพลังงาน ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ธุรกิจด้านการบริการก่อสร้างครบวงจร เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจพลังงานในอนาคต ทำให้บริษัทฯ มั่นใจว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ จะเติบโตได้ตามแผนที่วางไว้ คือ ไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องกว่า 12 ปีของบริษัทฯ นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ"นายสมบูรณ์ กล่าว
สำหรับธุรกิจพลังงานบริษัทฯ ได้ร่วมประมูลจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ซึ่งได้กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3 ประเภท ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) โดยบริษัทฯ ผ่านคุณสมบัติและเทคนิคขั้นต่ำของการประมูลรวมกว่า 20 โครงการ ส่งผลให้บริษัทมั่นใจว่าจะมี portfolio เมกะวัตต์รวม เติบโตตามเป้า 1,000 เมกะวัตต์ ที่บริษัทได้ตั้งไว้ คาดว่าจะรู้ผลการคัดเลือกภายในวันที่ 5 เม.ย.66 โดยบริษัทมีงบลงทุนที่เตรียมไว้กว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าในการ Spin-Off บริษัท กันกุล พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (GPD) ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนได้ในช่วงไตรมาส 4/2566 ซึ่งประเมินว่างานรับเหมาก่อสร้างจะมีเพิ่มขึ้นมากในช่วง 5 ปีนี้ เนื่องจากมีแผนจะเข้าไปรับงานภาคเอกชนมากขึ้น จากปัจุบันมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้กว่า 5,000 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะมีการประมูลงานใหม่กว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อมาสนับสนุนงานในมือให้เพิ่มมากขึ้น