นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.พร้อมพูดคุยกับกลุ่ม บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ค่าจ้างเดินรถ หลังจากพนักงาน BTS ยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาแก้ไขปัญหาภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการจะหยุดการเดินรถส่วนต่อขยาย เพราะหากเกิดเหตุการณ์หยุดเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจะกระทบต่อประชาชน ซึ่งทาง กทม. รวมถึง BTS ก็คงไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
ปัจจุบันการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวเป็นส่วนที่ BTS รับจ้างเดินรถให้กับกทม. สัมปทานล่วงหน้ายาวไปถึงปี 85 โดยส่วนต่อขยายที่ 2 หมอชิต-คูคต ยังคงให้บริการกับประชาชนฟรี ไม่มีกำหนดว่าจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในเร็ว ๆ นี้ เพราะเป็นส่วนที่นำคนจากชานเมืองหลายแสนคนเข้ามาสู่สายที่เป็นไข่แดง คือ หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬา-สะพานตากสิน ที่มีการเก็บค่าโดยสารปกติ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับ BTS เพื่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการที่ BTS ทวงหนี้จาก กทม.นั้น นายชัชชาติ กล่าวยืนยันว่า การจ่ายหนี้ให้ BTS ยังต้องดูตามข้อสัญญาที่ค้างอยู่ใน กทม. และต้องมีการหารือร่วมกัน รวมถึงทางบริษัท กรุงเทพธนาคม (KT) จะต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเป็นข้อกังวลที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
ส่วนการเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต นั้น ต้องให้สภากทม.พิจารณาถึงความเหมาะสม เพราะสัญญาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการโดยผ่าน ม.44 และไม่ได้ผ่านสภากทม. หากจะดำเนินการอะไรในตอนนี้จะต้องผ่านสภากทม.ให้ได้รับความเห็นชอบก่อน แต่ปัจจุบันยังไม่มีแผนการเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายดังกล่าวที่ชัดเจนว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ ซึ่งประชาชนยังคงใช้บริการได้ฟรี
"ส่วนตัวไม่อยากให้เรื่องดังกล่าวยืดเยื้อ ที่ผ่านมาก็ศึกษาอยู่ต่อเนื่อง แต่กทม.ก็ต้องทำตามขั้นตอน เราก็พร้อมพูดคุยกับทางบีทีเอส เพื่อร่วมกันหาทางออก และเชื่อว่าบีทีเอสคงไม่ทำสิ่งที่เกิดผลกระทบต่อประชาชน หรือเอาประชาชนมาต่อรอง" นายชัชชาติ กล่าว
ด้านนโยบายที่เคยหาเสียงในช่วงของการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ในเรื่องอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้านั้น ในสายที่เป็นไข่แดงถือว่าอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันเฉลี่ยในช่วงราคา 35-40 บาท เป็นราคาที่เหมาะสม และไม่มีปัญหาอะไรในส่วนนี้ แต่ในส่วนต่อขยายที่กทม.ว่าจ้าง BTS ยาวไปอีก 13 ปีที่ทำสัญญาไปแล้ว พบว่ามีอัตราค่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่สูง ทำให้ กทม.จะต้องเก็บค่าโดยสารที่สอดคล้องกับต้นทุนค่าจ้างที่สูงตาม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหาแนวทางในการต่อรองกับ BTS เพื่อหาแนวทางในการต่อรองลดค่าจ้างเดินรถกับบีทีเอสในส่วนต่อขยาย เพื่อทำให้การจัดเก็บค่าโดยสารได้ถูกลง และ BTS ยังได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมในการรับจ้างเดินรถ
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาดูแลและพิจารณาในเรื่องของประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาต่างๆในเรื่องของรถไฟฟ้าที่เป็นประเด็นยืดเยื้อมา ซึ่งทาง กทม.อยากให้รัฐบาลนำโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ กลับไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีความเชี่ยวชาญเพียงหน่วยงานเดียวดูแล ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการโครงข่ายรถไฟฟ้าต่างๆง่ายขึ้น และสามารถควบคุมและกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เหมาะสมและถูกลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน
"ต้องเข้าใจว่ารถไฟฟ้าของไทยที่มีอยู่สีต่างๆ มี Owner หลายคน สีน้ำเงิน สีม่วง สีเหลือง สีชมพู ก็ของ รฟม. แอร์พอร์ตลิงค์ ก็ของการรถไฟ ของ กทม.ก็สายสีเขียว ซึ่งหากถามเรา เราก็ไม่ได้อยากเป็นเจ้าของ เพราะเราไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหาร ถ้าเปิดโอกาสให้คืนรัฐบาลได้เราก็ยินดีที่จะคืน และก็หาแนวทางร่วมกันในการบริหารจัดการ ซึ่งก็ทำให้กทม.ได้รับผลตอบแทนร่วมกันด้วย" นายชัชชาติ กล่าว