นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า สถานการณ์ปัญหาของธนาคารเครดิต สวิส ไม่ได้กระทบกับตลาดหุ้นไทยมากนัก เป็นเพียง Sentiment จากต่างประเทศที่เกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุนทั่วโลกต่อวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรปที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาร่วงแรงอีกครั้งในวันนี้
การเกิดวิกฤตของเครดิต สวิส ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีของ Silicon Valley Bank (SVB) ที่เกิดจากปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งแตกต่างกับเครดิต สวิสที่เกิดปัญหาด้านการเงิน และเป็นปัญหาเก่าที่มีผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนของเครดิต สวิส ที่ประสบปัญหาขาดทุน แต่ประเด็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนทั่วโลกเกิดความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ภาพรวม สะท้อนมายังตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงตาม Sentiment เดียวกัน
แต่กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ได้ออกแนวทางเข้ามาดูแลปัยหาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่เกิดผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่
นายภากร กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นทั่วโลกมีความเชื่อมโยงกัน และการเผยแพร่และรับรู้ข่าวสารต่างๆ มีความรวดเร็ว นักลงทุนต้องใช้เวลาซักพักเพื่อทำความเข้าใจกับข้อมูลที่ทยอยออกมา ซึ่งในช่วงแรกของเหตุการณ์ทุกคนต่างตกใจและมีความกังวลค่อนข้างมาก จากนั้นจะเริ่มค่อยๆทำความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์มองว่าตลาดหุ้นทั่วโลกในขณะนี้มีความเปราะบางและผันผวนค่อนข้างมาก อย่างตลาดหุ้นต่างประเทศดัชนีขึ้น-ลงวันละ 2-3% มาจากความวิตกกังวลเมื่อมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น
"ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามจะออกมาทำความเข้าใจและให้ข้อมูลข่าวสารแก่นักลงทุนในตลาดทุนทุกท่าน ทำให้นักลงทุนได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีข้อมูลออกมา เพื่อให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์สามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการลงทุน ซึ่งมองว่าตอนนี้นักลงทุนต่างมีความกังวล และสภาพตลาดเปราะบางและมีความผันผวน การรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องและรวดเร็วจะช่วยให้การพิจารณาการลงทุนทำได้อย่างถูกต้อง" นายภากร กล่าว
แม้ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเกิดความผันผวนปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีเข้ามาควบคุมและดูแลสภาพตลาดมากกว่าที่ใช้อยู่ในขณะนี้ โดยจะพิจารณานำมาใช้เมื่อเกิดความเสี่ยงมากขึ้น
ส่วนความกังวลในเรื่องของผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารในประเทศไทยที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น นายภากร กล่าวว่า ธนาคารของไทยไม่เหมือนกับธนาคารในต่างประเทศ เพราะธุรกิจหลักที่เป็นการรับฝากเงินและการปล่อยสินเชื่อยังเน้นกลุ่มลูกค้าในประเทศเป็นหลัก และธนาคารไทยมีความมั่นคงของฐานทุนสูง การที่หุ้นกลุ่มธนาคารถูกเทขายออกมาก็เป็นไปตาม Sentiment เดียวกับกลุ่มธนาคารในต่างประเทศที่โดนเทขายออกมาเช่นเดียวกัน จากความกังวลหลังเกิดวิกฤตขึ้นล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร
สำหรับกรณีที่มีข้อมูลระบุว่าเครดิต สวิส เข้ามาถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนไทยบางบริษัท จึงเกิดความกังวลว่าอาจจะถูกเครดิตสวิสขายออกมานั้น นายภากร กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนที่มีรายชื่อของเครดิต สวิส เป็นผู้ถือหุ้นนั้น พบว่าเครดิตสวิสเป็นเพียง Custodian ที่ดูแลเงินลงทุนของนักลงทุนสถาบัน ไม่ใช่เป็นการลงทุนโดยตรงของเครดิต สวิส ทำให้ความเสี่ยงที่จะถูกการขายทิ้งคงไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่เงินของเครดิต สวิส แต่เป็นเงินลงทุนของลูกค้า
"อยากให้นักลงทุนวิเคราะห์ข้อมูลที่เห็นให้ดี ไม่ตื่นตระหนกไปก่อน จากรายชื่อการถือหุ้นของเครดิต สวิส ใน บจ.ไทย ที่แชร์กันสะพัด เป็นเพียง Custodian ที่ฝากเงินมาให้เครดิต สวิส ดูแลในการการลงทุน เพราะเครดิตสวิสมีสัดส่วนการลงทุนในไทยน้อยมาก ซึ่งเงินที่มีอยู่ในการถือหุ้นไทยเป็นของลูกค้า ไม่ใช่เงินของเครดิต สวิส ที่ลงทุนโดยตรง" นายภากร กล่าว
นายภากร กล่าวอีกว่า ผลกระทบของเครดิต สวิส ต่ออุตสาหกรรมตลาดทุนไทยนั้น มองว่ามีน้อยมาก แม้ว่าผู้ประกอบการในตลาดทุนไทยที่เป็นต่างชาติมีสัดส่วนถึง 50% ซึ่งเครดิต สวิสในไทย มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนในการเป็น Investment Bank และ Private Banking ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าเท่านั้น หากธุรกิจดังกล่าวต้องปิดไป ลูกค้าก็สามารถเลือกใช้ผู้ให้บริการรายอื่นแทน และในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยถือว่ามีน้อยมาก เพราะเครดิต สวิส ไม่ได้มีการให้บริการรับฝาก หรือให้สินเชื่อกับลูกค้าในไทย