บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) เปิดแผนปี 66 ตั้งเป้า Gross Profit Margin เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 15-20% เน้นการลงทุนธุรกิจใหม่ที่เป็น Non Freight มีกำไรขั้นต้นสูงถึง 40-45% ควบคู่การเดินหน้าปิดดีล JV และ M&A ทั้งในและต่างประเทศ ฟากซีอีโอ "เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์" ระบุพร้อมลุยขยายธุรกิจทุกมิติ เดินหน้าผนึกพันธมิตรต่อยอดธุรกิจ เตรียมอัดงบลงทุน 800 -1,000 ล้านบาท เพื่อซื้อกิจการ-ร่วมทุนเพิ่ม เพื่อผลักดันการเติบโตก้าวกระโดด
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LEO เปิดเผยว่า ในปี 66 นี้ บริษัทฯ ยังคงเดินตามแผนยุทธศาสตร์ "365 Degree Collaboration" ตั้งเป้าเป็นปีแห่งการก้าวสู่ความเป็นบริษัท Blue Chip Stock ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน โดยวางเป้าการเติบโตของ Gross Profit Margin เพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อน เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น Non Freight และมีกำไรขั้นต้นมากกว่า 40-45% เช่น Self Storage, Container Depot, Warehouse & Logistics Center และ Cold Chain Logistics โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อพัฒนาโครงการ ใหม่ๆ ซึ่งเมื่อรวมรายได้จากบริษัท JV ใหม่ที่เกิดขึ้นและการขยายงานของทางบริษัทฯ ทำให้รายได้ของธุรกิจ Non-Freight ของบริษัทฯ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
"บริษัทเชื่อมั่นว่าในปี 66 จะยังคงรักษาระดับการเติบโตของกำไรขั้นต้นและผลประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพราะจะเริ่มรับรู้รายได้และกำไร จากโครงการ JV และ M&A ใหม่ๆ ที่เป็นทั้งการให้บริการ Freight , Non Freight และ New Business ในหลายๆ โครงการ เช่น การให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนโดยรถบรรทุกและรถไฟ, การให้บริการตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งผลไม้ไปยังประเทศจีน , การให้บริการลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot) แห่งที่ 2 ซึ่งได้เปิดดำเนินการเรียบร้อยแล้ว , การพัฒนาธุรกิจ Cold Chain Logistics ที่ บมจ. สหไทย เทอร์มินัล (PORT) , การพัฒนาโครงการ Warehouse & Logistics Center ร่วมกับ บริษัท เอชเค แอสเซท แมเนจเมนท์ จำกัด ในเครือ บมจ.เสนา ดีเวลอบเม้นท์ (SENA), การเปิดบริการ Self Storage แห่งที่ 3 และ 4 , การพัฒนาธุรกิจตัวแทนในการซื้อสินค้าจากประเทศไทยเพื่อส่งให้ E-commerce Platform ของ China Post และ Tengjin ภายใต้ชื่อ บริษัท LEO Sourcing & Supply Chain ที่ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อสินค้าที่เป็นทุเรียนและผลไม้อื่นๆเข้ามาเป็นจำนวนมาก
รวมถึง โครงการ JV กับ บริษัท เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท จำกัด และ บริษัท ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด ที่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของทางการรถไฟจีนในการทำการตลาดการขนส่งทางรางไทย-จีนภายใต้ บริษัท LaneXang Express Company Limited และธุรกิจอื่นๆ ที่จะทยอยเกิดขึ้นในปี 66 นี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทั้งในด้านธุรกิจและรายได้อย่างก้าวกระโดดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้รายได้ กำไรขั้นต้นและผลประกอบการของบริษัทฯเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง
อีกทั้ง บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าเรื่องการเจรจาเพื่อซื้อกิจการ (M&A) กับพันธมิตรที่เป็นบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกหลายประเทศ เช่น ประเทศกัมพูชา สิงคโปร์ และจีน คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2/66 และสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 3-4/66 รวมถึงจะมีโครงการธุรกิจใหม่ๆ ที่จะสามารถสรุปได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า อีก 1-2 โครงการ ซึ่งการ M&A หลายๆ โครงการนี้ จะสนับสนุนการเติบโตทั้งในด้านธุรกิจและรายได้อย่างก้าวกระโดดด้วยเช่นเดียวกัน