นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เปิดผยว่า ธนาคารได้วางเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจในปี 66 ที่ 3% โดยสิ้นปี 65 พอร์ตสินเชื่อของลูกค้าธุรกิจอยู่ที่เกือบ 5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่กว่า 45,000 บริษัท และกลุ่มลูกค้า SME ราว 200,000 บริษัท
ธนาคารเชื่อมั่นว่าสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจยังคงเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะของเศรษฐกิจไทยที่กลับมาฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อกลับมาเพิ่มขึ้นด้วย แต่ยังเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนของปัจจัยภายนอกที่ผู้ประกอบการต่างๆ ยังต้องติดตามและเตรียมความพร้อมในการรับมือ
แม้ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อต่อเนื่อง แต่ก็จะยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพของพอร์ตและคุณภาพของลูกค้า เพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งธนาคารจะเดินหน้าไนการรักษาต้นทุนความเสี่ยง (Risk Cost) ให้อยู่ไนระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 66 ตั้งเป้าลด Risk Cost ลงมาที่ 0.9% จากปี 65 ที่ 1.2% ซึ่วลดลงมาอย่างต่อเนื่องจากปี 64 ที่สูงถึง 1.6% เพื่อทำให้พอร์ตสินเชื่อลูกค้าธุรกิจของธนาคารมีคุณภาพดีขึ้นต่อเนื่อง
"เมื่อ Risk Cost ลดลง ก็แสดงถึงคุณภาพพอร์ตของเราที่ดีขึ้นด้วย สะท้อน NPL ของเราที่ต่ำ และการตั้งสำรองฯที่ลดลง และทำให้มีมาร์จิ้นที่ดีขึ่นตาม เพราะเราจะเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาควบคุณภาพพอร์ต และสร้างมาร์จิ้นที่ดีด้วย" นายศรัณย์ กล่าว
นอกจากนี้กลุ่มลูกค้าธุรกิจของธนาคารยังคงมีการเติบโตด้านรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น โดยปี 66 ตั้งเป้ารายได้ดังกล่าวเติบโต 20% หรืออยู่ที่กว่า 4 พันล้านบาท โดยจะมีการบริการที่รองรับความต้องการแก่ลูกค้าธุรกิจที่หลากหลายให้บริการทั้งด้าน Trade finance บริการด้านอัตราแลกเปลี่ยน การประกันความเสี่ยง และบริการด้านการออกตราสารหนี้ในตลาดแรก ซึ่งสามารถรองรับความต้องการในการใช้บริการได้อย่างครอบคลุม
ขณะเดียวกันธนาคารได้เล็งเห็นว่าลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะลงทุนในเรื่อง ESG มากขึ้น ทางธนาคารจึงตั้งเป้าที่จะสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวและสีฟ้า (Green and Blue Loan) ภายใน 5 ปีในวงเงินกว่า 5 หมี่นล้านบาท นอกจากนั้นยังได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจที่สามารถบรรลุ KPI ของ ESG ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงภายใต้ผลิตภัณฑ์ Sustainability Linked Loan และ Sustainability Linked Derivatives และในส่วนของลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารมีแผนการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว พร้อมตั้งเป้าที่จะสนับสนุนสินเชื่อ วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี ภายใต้ Transformation Loan Supply Chain Solutions และ Refinance Program
ส่วนการปรับตัวสู่บริการด้านดิจิทัล ตลอดระยะเวลาในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีเทคโนโลยีจำนวนมากที่ทำให้การดำเนินชีวิตและธุรกิจเปลี่ยนไป โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิด Digital Adoption รวดเร็วมากขึ้น จากสถิติต่างๆที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปรับตัวเรื่องเทคโนโลยีเป็นอันดับต้นๆของโลก ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมโมบายแบงก์กิ้ง เป็นอันดับหนึ่งของโลก ในปี 2564 อีกทั้งความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานประเทศที่จะรองรับการทำธุรกรรมทางด้านดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น PromptPay PromptBiz และการยืนยันตัวตนทางออนไลน์
จากความพร้อมเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่ต้องปรับการดำเนินงานให้เป็นดิจิทัล เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการแข่งขัน ทีเอ็มบีธนชาต ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงพัฒนาการบริหารจัดการธุรกรรมการเงินด้วยโซลูชันครบวงจร (Cash Management Solutions) ที่ครอบคลุมและแตกต่าง รองรับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการบริหารสภาพคล่อง ด้วยฟีเจอร์ที่โดดเด่นและตอบโจทย์ โดยสามารถจัดการทั้งเงินและเอกสารสู่ระบบดิจิทัลได้ทั้งหมด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย ก็ต่างได้รับประโยชน์ทั้งในเรื่องของการลดเวลาและขั้นตอน ได้เงินเร็ว ตรวจสอบสถานะได้ ทำให้การบริหารสภาพคล่องได้ประโยชน์สูงสุด
ธนาคารยังต้องการสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถดูแลสวัสดิการพนักงานให้มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นได้แบบครบวงจร จึงได้พัฒนา โซลูชันบริการการจ่ายเงินเดือนและดูแลสวัสดิการพนักงานแบบครบวงจร (ttb payroll plus) ที่ครอบคลุมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของพนักงาน รวมถึง Digital HRM ที่กำลังจะเปิดตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถบริหารจัดการงานบุคคลได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ บันทึกเวลาเข้าออกงาน ส่งใบลา และเบิกค่าใช้จ่ายเป็นต้น
จากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งขั้วทางการเมือง สงคราม การชะลอตัวของเศรษฐกิจ และอื่นๆจนนำไปสู่ความผันผวนที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่เป็นสกุลหลักในการค้าขายของไทยที่มากถึง 77.4% ธนาคารเข้าใจและตระหนักดีว่า ทุก 1% ของความผันผวนที่สูงขึ้น คือ ทุก 1% ของความเสี่ยงที่กำไรของผู้ประกอบธุรกิจจะลดลง ธนาคารจึงได้พัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ในการจัดการเรื่องความผันผวน ด้วยบริการ ttb local currency ที่จะช่วยลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสกุลเงินท้องถิ่นที่เป็นคู่ค้าหลักของประเทศไทย
นอกจากนี้ธนาคารยังเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความเสี่ยง ด้วย Pro Rata Forward สำหรับเงินสกุลท้องถิ่น โดยเฉพาะสกุลเงินหยวน ซึ่งถือเป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียวที่ทำได้ นอกจากนั้นยังออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ทำให้ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ว่าจะเป็น ttb multi-currency account หรือบัญชีบริหารหลายสกุลเงิน และยังมีบริการการเชื่อมต่อระบบของลูกค้ากับธนาคาร (Host to Host) และมีออนไลน์แพลตฟอร์มที่รองรับการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน การเปิด L/C หรือการเบิกใช้สินเชื่อ
"นอกเหนือจากโซลูชันของผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดที่เราจะช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าก้าวผ่านความท้าทายต่าง ๆ แล้ว ธนาคารยังคงมีการให้องค์ความรู้เพื่อให้ตระหนักและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นงานสัมมนา หรือการให้ความรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย ผ่านโครงการ finbiz by ttb เพราะทีเอ็มบีธนชาต ตั้งใจจะสร้าง The Next REAL Change ให้ลูกค้าธุรกิจและเอสเอ็มอี สามารถเติบโตแบบยั่งยืนได้อย่างแท้จริง" นายศรัณย์ กล่าว