KBank Private Banking ชี้โอกาสดีในตลาดตราสารหนี้และพันธบัตร จากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยที่กำลังจบลง ส่งผลให้ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พลิกกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง หลังจากที่ปรับตัวลงมาแรงในปีก่อน เชื่อว่าสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจให้กับนักลงทุน พร้อมแนะให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ภายใต้ธีม Bonds are Back ที่กระจายความเสี่ยงผ่านตราสารหนี้และพันธบัตรหลากหลายประเภททั่วโลก เพื่อรับมือกับความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
นางสาวศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้รับความสนใจมากนักจากนักลงทุน เนื่องจากให้ผลตอบแทนไม่มาก เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยประคับประคองพอร์ตการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจถดถอยหรือในช่วงที่มีวิกฤต
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ Bonds are Back เป็นธีมการลงทุนที่นักลงทุนควรหันมาให้ความสนใจ จากการที่ธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก อย่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและแรงเพื่อรับมือเงินเฟ้อ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ปรับตัวขึ้นแรงตามทั้งสหรัฐฯ และไทย
ทั้งนี้ KBank Private Banking คาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะสิ้นสุดในปีนี้ ดังนั้นโอกาสที่ดอกเบี้ยในตลาดจะทรงตัวหรือปรับตัวลงมีมากกว่าที่จะปรับเพิ่มขึ้นต่อ ความเสี่ยงจากประเด็นด้านดอกเบี้ยสำหรับตราสารหนี้ก็จะลดลง
ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าตลาดตราสารหนี้เริ่มฟื้นตัวขึ้นและมีอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจ หลังเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายและเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มส่อแววชะลอตัวลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีปรับลงในเดือนมีนาคมกว่า 1% จากระดับสูงสุดที่ 5.07% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบกว่า 12 ปีเลยทีเดียว
ส่วนทิศทางตลาดตราสารหนี้ในปี 66 มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดหลังจากนี้มีทิศทางที่จะชะลอความเร็วลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดปัจจุบันอยู่ที่ 4.75-5.00%
ดังนั้น KBank Private Banking จึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่นักลงทุนควรเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้โดย 1) ควรกระจายการลงทุนตราสารหนี้ที่หลากหลาย ทั้งพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน ที่จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นที่ใกล้จะสิ้นสุด เช่น กองทุนเปิดทีเอ็มบี อีสท์สปริง โกลบอล สมาร์ท บอนด์ (TTB-ES-GSBOND)
และ 2) แนะนำเพิ่มการลงทุนใน Contingent Convertible Bond (CoCos Bond) หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ที่มีโอกาสที่ได้รับผลตอบแทนที่ดี หลังสถานะการเงินในภาคธนาคารแข็งแกร่งขึ้นมากกว่าในช่วงปี 51 ที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เช่น กองทุนกองทุนเปิด ยูไนเต็ด แพลตินัม อินคัม ออพพอร์ทูนิตี้ส์ พลัส ฟันด์ (UPINCM-N)