(เพิ่มเติม) SCIBเผยNPLQ1เพิ่มจากสช.ไม่ตามเป้า-รายใหญ่คืนหนี้,มีแผนขายNPLกลางปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 21, 2008 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ธนาคารนครหลวงไทย(SCIB) ระบุว่า สาเหตุที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ณ สิ้นไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจากสินเชื่อใหม่เติบโตไม่มาก ขณะเดียวกันลูกค้ารายใหญ่มีการออกหุ้นกู้เพื่อมาใช้คืนธนาคารจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าทั้งปี NPL จะอยู่ที่ 5% ตามที่ตั้งเป้าไว้ เนื่องจากในช่วงกลางปีธนาคารมีแผนจะขาย NPL กว่า 8 พันล้านบาท จากปีก่อนที่ขายไปได้ราว 300 ล้านบาท
"คิดว่าถ้าขาย NPL ได้อย่างน้อย 5 พันล้านบาท ทำให้ NPL ทั้งปีเหลือ 5% ได้ แต่ขึ้นกับราคาเจรจากับ BAM และ SAM ด้วย" นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCIB กล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงกลางปีนี้ธนาคารจะทบทวนเป้าสินเชื่อในปี 51 ที่วางเป้าไว้โต 12% หรือ 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากจากการพิจารณาแล้วสินเชื่อรายย่อยจะเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ
ส่วนสินเชื่อรายใหญ่ยังมีน้อยเนื่องจากต้องรอโครงการเมกะโปรเจ็คต์ในช่วงปลายปี
"เราเชื่อมั่นว่าถ้าเราได้ตัวช่วย สินเชื่อ retail และ SMEs ของเราก็น่าจะเติบโตได้กว่าที่วางไว้" นายชัยวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ปีนี้ SCIB คาดว่าจะมีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยโตเป็น 18-19% จากปีก่อนมีสัดส่วน 15%
และธนาคารได้ขยายศูนย์ธุรกิจเพื่อรองรับธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งในเดือน พ.ค.นี้ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จากเดิมที่เปิดดำเนินการไปแล้ว 4 แห่ง
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในปีนี้จะสามารถพลิกสถานะกลับมามีกำไรได้จากไตรมาส 3/50 ที่ขาดทุน 3,900 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกิจในเครือหลังปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานแล้ว ซึ่งจะสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ และผลประกอบการในไตรมาส 2/51 น่าจะดีกว่าไตรมาสแรก เนื่องจากต้นทุนเงินในการดำเนินการลดจากกว่า 50 BPS ลงเหลืออยู่ที่ 40-50 BPS ตลอดจนมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น และเชื่อว่าต้นทุนฯ เฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 40 BPS ซึ่งทำให้สามารถแข่งขันกับธนาคารขนาดใหญ่ได้ และเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยสุทธิรับ(Net Interest rate Margin:NIM) ในไตรมาสแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3% ก็ถือว่าน่าพอใจ และคาดว่าดอกเบี้ยสุทธิรับในปีนี้เฉลี่ยน่าจะอยู่ในระดับนี้
ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์(Rebranding) โดยยังคงตรามงกุฎและสีแดงไว้เช่นเดิม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จราวไตรมาส 3 หรือ 4 ซึ่งจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของลูกค้า ผู้ถือหุ้น และพนักงานกลับคืนมาอีกครั้ง
ปัจจุบัน SCIB มีสาขาทั่วประเทศ 424 สาขา และมีตู้เอทีเอ็ม 1,600 แห่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ