นายพงษ์สฤษดิ์ เปิดเผยว่าปี 2565 ที่ผ่านมา BEM มีรายได้ 14,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,304 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.8 กำไรสุทธิ 2,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,426 ล้านบาท หรือร้อยละ 141.2 ซึ่งเป็นผลจากการที่ปริมาณจราจรและปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้ากลับมาสู่ภาวะปกติและดีกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด โดยมีปริมาณผู้ใช้ทางด่วน 1.04 ล้านเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 22.4 และปริมาณผู้โดยสาร Blue Line 270,000 เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 84.5 และปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 400,000 เที่ยวต่อวัน คาดว่า ในปี 2566 ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะมากกว่า 420,000 เที่ยวต่อวัน ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด เนื่องจาก Blue Line เปิดเดินรถครบลูป และปริมาณผู้ใช้ทางด่วนจะกลับมา 100% ส่งผลให้กำไรในปี 2566 เพิ่มขึ้นกว่าปี 2565 อย่างแน่นอน
ในส่วนของ Orange Line BEM เป็นผู้ชนะการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมเสนอครม.เห็นชอบเพื่อลงนามในสัญญา เชื่อมั่นว่ารัฐต้องเร่งรัดเพราะโครงการมีความสำคัญต่อระบบขนส่งมวลชนและโครงการล่าช้ามากว่า 3 ปีแล้ว ทำให้มีค่าใช้จ่ายและต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หาก BEM ลงนามในสัญญา ก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที ทั้งในเรื่องของเงินลงทุน และผู้รับเหมาได้แก่ CK ที่มีศักยภาพและประสบการณ์ในการก่อสร้าง Project ขนาดใหญ่ ซึ่ง BEM มั่นใจว่าสามารถเปิดให้บริการ Orange Line ฝั่งตะวันออกได้ภายใน 3 ปีครึ่ง ก่อนกำหนดในสัญญาแน่นอนและฝั่งตะวันตกจะเปิดได้ภายใน 6 ปี หลังลงนามสัญญา
นายพงษ์สฤษดิ์ เปิดเผยว่า งานโครงการที่สำคัญและอยู่ระหว่างการเจรจากับภาครัฐได้แก่ โครงการ Double Deck อยู่ระหว่างเจรจาในเบื้องต้นกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ควบคู่ไปกับการรอผลการจัดทำ EIA ของ กทพ. คาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีความชัดเจนโดยขั้นตอนต่อไปจะมีการแก้ไขสัญญาตามพรบ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนซึ่งจำเป็นต้องเร่งก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหารถติด นอกจากนี้โครงการ Purple Line ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังเร่งรัดดำเนินโครงการโดย BEM พร้อมเจรจาทันทีที่ รฟม.ได้ทำการศึกษาตามขั้นตอนของพรบ.การร่วมลงทุนฯแล้วเสร็จ ส่วนโครงการอื่นๆของภาครัฐ BEM ก็มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลทุกรูปแบบอย่างเต็มที่
สำหรับในส่วนของ CK นายพงษ์สฤษดิ์ เปิดเผยว่า 1-2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ผลประกอบการที่ 2564 มีรายได้ก่อสร้าง 12,198 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 มีรายได้ก่อสร้าง 18,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.35 กำไรสุทธิ 1,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 199 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.96 มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 7.66% ณ ปัจจุบัน Backlog มูลค่ารวม 55,867 ล้านบาท จากโครงการ Purple Line ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ และโครงการ Double Track ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และปี 2566 มีโครงการสำคัญที่มีความชัดเจนอยู่ 2 โครงการ คือ โครงการ Luang Prabang Hydropower ซึ่งจะลงนามสัญญาภายในปีนี้ มูลค่า 98,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างโครงการ 7 ปี ปัจจุบันบริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ได้เจรจาข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าเสร็จสิ้นแล้วเหลือเพียงขั้นตอนการลงนามสัญญาเงินกู้กับผู้ให้กู้ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนเมษายน 2566 ส่วนงานก่อสร้างก็สามารถเริ่มได้ภายในปีนี้ ส่งผลให้ Backlog ไตรมาสแรกปี 2566 ทะลุกว่า 150,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการ Orange Line ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ คาดว่า BEM จะลงนามได้ในไตรมาสที่ 3 ทำให้มี Backlog เพิ่มขึ้น 109,216 ล้านบาท จึงทำให้ภายในไตรมาส 3 CK จะมี Backlog กลับมาที่ 250,000 ล้านบาท ถือเป็นการทำสถิติใหม่ (New High) ในรอบ 50 ปี ทำให้คาดว่าในอีก 7 - 8 ปี CK จะมีรายได้ปีละ 25,000 - 30,000 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 7-8% ได้อย่างมั่นคง
นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมปี 2566 ถือเป็นปีที่ CK กลับมาเป็นปกติ จากงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการควบคุมต้นทุนที่ดี ทำให้มีกำไรดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ และบริษัทในกลุ่ม ช.การช่าง ได้แก่ BEM ,TTW, CKP จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ส่งผลให้ทุกบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นและมีปันผลที่ดี โดยปัจจุบัน CK ถือหุ้น BEM รวมทั้งสิ้นกว่า 35% เพราะมั่นใจในศักยภาพของ BEM และยังมีโอกาสในการเข้ารับงานจากโครงการทางด่วนและรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายต่างๆในอนาคต และงานประมูลโครงการอื่นๆ อาทิ โครงการAirport โครงการDouble Track โครงการMotorway ซึ่ง CK และ BEM มีประสบการณ์ มีความพร้อมและศักยภาพอย่างมากในการเข้าไปดำเนินงานให้กับภาครัฐ