(เพิ่มเติม) SCB เผย Q1/51 มีกำไรสุทธิ 6.8 พันลบ.จาก 3.7 พันลบ.ใน Q1/50

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 21, 2008 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า ในไตรมาสแรกของปี 2551 มีผลกำไรสุทธิ  6,787 ล้านบาท  หรือสูงขึ้น 83.5% เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2550 ซึ่งนับเป็นกำไรประจำไตรมาสที่สูงกว่าที่ผ่านมา กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นมาจากการดำเนินยุทธศาสตร์
การให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร (Universal Banking) การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานควบคู่ไปกับการบริหารค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ผลประกอบการที่ดีมากยังมาจากกำไรพิเศษจากการขายหุ้นซึ่งเกิดขึ้นเป็นกรณีเฉพาะในไตรมาสนี้อีกด้วย
ทั้งนี้ แม้ว่าการขยายตัวของด้านสินเชื่อจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีเสถียรภาพ ในด้านการแก้ไขสินเชื่อด้อยคุณภาพ ได้ผลสูงกว่าเป้าหมายสะท้อนถึงคุณภาพสินเชื่อโดยรวมที่ดีขึ้น
“ปัจจัยหลักที่ทำให้ผลประกอบการในไตรมาสนี้ปรับตัวดีขึ้นอย่างเด่นชัด มาจากการนำรูปแบบของการทำธุรกิจการเงินแบบครบวงจรโดยธนาคารและบริษัทในกลุ่มมาปรับใช้ ส่งผลทำให้ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจากผลิตภัณฑ์ด้านประกันและการขายกองทุนรวม และธนาคารยังมีรายได้เพิ่มจากธุรกิจเช่าซื้อและธุรกิจจัดการกองทุน ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจมีการขยายตัวที่ดีและมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลประกอบการที่ดียังมาจากกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทต่างประเทศซึ่งเกิดเป็นกรณีเฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2551ในขณะเดียวกัน ธนาคารสามารถบริหารค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2550 แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการบริหารค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้" นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร SCB กล่าว
นอกจากนี้แล้ว ธนาคารยังประสบความสำเร็จอย่างสูงในการจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพ โดยสามารถลดระดับสินเชื่อด้อยคุณภาพจากระดับ 7.9% ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2550 มาอยู่ที่ 5.2% ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2551
นายวิชิต กล่าวว่า การลดลงของสินเชื่อด้อยคุณภาพสะท้อนถึงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพรวมทั้งการปรับปรุงและ
การยกระดับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสินเชื่อของธนาคาร
ในส่วนของสินเชื่อ การให้สินเชื่อของธนาคารขยายตัวที่ 12.1% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 โดยที่ธนาคารสามารถบริหารส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย (NIM) ให้ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 และใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ