ก.ล.ต.จ่อปรับเกณฑ์เงินกองทุนผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลสอดคล้องความเสี่ยงสถานการณ์การเงินโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 12, 2023 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่บทความ "การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมรับความเสี่ยงในสถานการณ์การเงินโลก" โดยระบุว่า จากสถานการณ์ทางการเงินของภาคการธนาคารในสหรัฐอเมริกา ทำให้ธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ Silvergate Bank, Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และทางการสหรัฐอเมริกาได้ประกาศปิดกิจการธนาคาร พร้อมทั้งมีมาตรการคุ้มครองเงินฝากและโครงการให้กู้เสริมสภาพคล่อง โดยสถานการณ์ได้ส่งผลกระทบต่อ Stable Coin และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของสหรัฐอเมริกาด้วย ในปัจจุบัน สถานการณ์ในภาคการธนาคารมีแนวโน้มดีขึ้น โดยธนาคารบางแห่งสามารถกลับมาดำเนินการกิจการได้ และธนาคารบางแห่งถูกขายกิจการให้กับธนาคารรายอื่น ตลอดจนมูลค่าของหุ้นกลุ่มธนาคารทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคาร SVB กลับมาเปิดดำเนินกิจการในชื่อธนาคาร SVB N.A. ซึ่งเปิดให้ลูกค้าสามารถถอนเงินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ขณะที่ทรัพย์สินของธนาคาร Signature Bank (เงินฝากและเงินกู้) ถูกขายให้กับ Flagstar Bank โดย FDIC ประกาศคุ้มครองเงินฝากของลูกค้าเต็มจำนวน

อย่างไรก็ดี หน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ยังคงติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ทางการเงินได้อย่างเท่าทัน

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อรองรับความเสี่ยงและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งการคุ้มครองผู้ลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยรองรับสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และสร้างความเชื่อมั่นว่าทรัพย์สินของผู้ลงทุนจะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

*กลไกการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) มีกลไกที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบธุรกิจฯ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง เพียงพอ รองรับความเสี่ยง และสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดในเรื่องของทุนจดทะเบียนและการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่อง (NC) ให้เพียงพอและเหมาะสม รองรับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ สิ่งที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่สะท้อนอยู่ใน พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ คือ การคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมกับประเภทของธุรกิจ โดยผู้ประกอบธุรกิจฯ ต้องมีกลไกแยกทรัพย์สินของลูกค้า โดยจัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละรายแยกออกจากทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจฯ อย่างชัดเจน ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจากเจ้าหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจฯ หรือกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจฯ ล้มละลาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทรัพย์สินของลูกค้ายังคงเป็นทรัพย์สินของลูกค้าอยู่เสมอและไม่สามารถนำไปรวมเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจฯ ได้

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจฯ แยกเก็บทรัพย์สินใน hot wallet และ cold wallet ตามสัดส่วนที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย และเก็บไว้กับผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งต้องเปิดเผยความเสี่ยงเพื่อให้ลูกค้ารับทราบ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทรัพย์สินของลูกค้าได้รับความคุ้มครอง ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการผลักดันให้เกิดใบอนุญาตผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (custodial wallet provider)

โดยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบการทบทวนหลักเกณฑ์สำหรับผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนและบริษัทย่อยในกลุ่มที่มีประสบการณ์เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า สามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ที่มีความเกี่ยวข้องกันในลักษณะที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกัน) ได้ หากปฏิบัติตามเกณฑ์ความเป็นอิสระต่อกันตามที่กำหนด และยังสนับสนุนให้มีผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยที่มีคุณภาพ เพื่อให้ทรัพย์สินของลูกค้าได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ตามกฎหมายของประเทศไทย

*แนวทางการปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เท่าทันสถานการณ์

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ติดตามพัฒนาการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้เท่าทันกับความเสี่ยงและสอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลในต่างประเทศ และปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจฝั่งหลักทรัพย์สนใจเข้ามาให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ดี สินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทมีความผันผวนและมีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบเคียงกับสินทรัพย์ทางการเงินแบบดั้งเดิม (traditional assets) ก.ล.ต. จึงได้วางแนวนโยบายการกำกับดูแลการให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจในฝั่งหลักทรัพย์ ตามระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการ (risk-based supervision) ซึ่งเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบธุรกิจฯ และยังช่วยป้องกันมิให้ลูกค้าเกิดความสับสนในผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการด้วย

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ทบทวนหลักเกณฑ์ด้านความเพียงพอและความมั่นคงทางการเงิน (prudential) โดยอยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนและการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจฯ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะความเสี่ยงในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล การสร้างสภาพแวดล้อมในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความน่าเชื่อถือ และมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหนึ่งในช่องทางการระดมทุนที่มีศักยภาพ สามารถรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก รวมทั้งพร้อมรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ