ก.ล.ต. แนะทำความรู้จัก DIF : Web Portal ก้าวแรกสู่ Digital Bond ผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 18, 2023 11:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายสื่อสารองค์กรและเครือข่ายตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นำเสนอบทความเรื่อง "ทำความรู้จัก DIF : Web Portal ก้าวแรกสู่ Digital Bond ผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐาน" โดยมีเนื้อหาว่า

หลังจาก ก.ล.ต. ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ Sandbox เพื่อเริ่มทดสอบระบบ Web Portal สำหรับตราสารหนี้ กับผู้ใช้งานจริงได้ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีหุ้นกู้รุ่นแรกออกเสนอขายผ่านระบบ ได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของตลาดทุนไทยที่จะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง (Digital Infrastructure หรือ DIF) ที่รองรับการออก digital bond สำหรับผู้ออกหลักทรัพย์ทุกราย โดยบทความนี้ ผู้เขียนจะขอเล่าถึงความเป็นมาและสาเหตุของการพัฒนาระบบดังกล่าว รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

*ทำไมต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure)

ก.ล.ต. เล็งเห็นประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพของตลาดทุนไทยให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตั้งแต่ปลายปี 2562 และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ประกอบไปด้วย บริษัท ซีเอ็มดีเอฟ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จำกัด ที่เป็นผู้พัฒนาและให้บริการระบบ (main operator) กลุ่มบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ในการจัดทำ workshop เพื่อร่วมกันออกแบบทั้งในด้าน requirement ของระบบ ด้านเทคโนโลยีในการพัฒนาและการเชื่อมต่อกับผู้ร่วมตลาด และด้านการปรับปรุงประเด็นที่เกี่ยวข้องในด้านกฎหมายและกฎเกณฑ์

การร่วมมือดังกล่าวข้างต้นเพื่อมุ่งหวังให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเข้ามาช่วยปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ในตลาดทุนเป็น end-to-end process ในรูปแบบดิจิทัล 100 % เพื่อให้การทำธุรกรรมในตลาดทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ทั้งฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายและสะดวกขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการ ลดความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงานแบบ manual และการใช้เอกสารหลักฐานที่เป็นกระดาษ รวมถึงช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถติดตามสถานการณ์ที่มีนัยสำคัญและให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนมีข้อมูลที่เพียงพอในการกำหนดนโยบายของตลาดทุนต่อไป

*ระบบ DIF : Web Portal คืออะไร

ในระยะแรกนั้น จะเริ่มจากการพัฒนาระบบ DIF : Web Portal ที่เปรียบเสมือนประตูที่จะนำไปสู่ถนนกลางของระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย ซึ่งระบบดังกล่าวจะรองรับกระบวนการทำงานในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมตราสารหนี้ในตลาดแรกได้ทั้งหมด ตั้งแต่การยื่นขออนุมัติเพื่อออกเสนอขายตราสารหนี้ ไปจนถึงการนำส่งรายงานภายหลังการเสนอขายเสร็จสิ้น

โดยขณะนี้ระบบ DIF : Web Portal ใกล้ที่จะพร้อมให้บริการกับผู้ใช้งานจริงแล้ว ก.ล.ต. จึงได้เปิดให้ผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง และหน่วยงานเกี่ยวข้องที่สนใจเข้าร่วมโครงการและมีความพร้อม ตลอดจน main operator ยื่นคำขอเพื่อเริ่มทดสอบการใช้งานระบบภายใต้โครงการ Sandbox ไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะพร้อมเปิดการทดสอบ (go-live) แก่ผู้ใช้งานในช่วงปลายเดือนเมษายน โดยจะมีสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ที่ได้รับมอบหมายจาก main operator ให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและให้บริการในการทำธุรกรรม (business operator) แก่ผู้ใช้งานบนระบบต่อไป

*ระบบ DIF : Web Portal บทบาทการรองรับธุรกรรมในตลาดแรก

สำหรับธุรกรรมตราสารหนี้ในตลาดแรกที่จะสามารถดำเนินการผ่านระบบ Web Portal ได้มีดังนี้

1. การออกและเสนอขายตราสารหนี้ (Bond filing) : ผู้ที่ประสงค์จะออกและเสนอขายตราสารหนี้ (issuer) ต้องยื่นข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติจาก ก.ล.ต. ผ่านระบบ

2. การขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA Bond Registration) : เมื่อตราสารหนี้ได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้ว ระบบจะนำส่งข้อมูลให้ ThaiBMA โดยอัตโนมัติเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนและออก Bond Symbol

3. การรับจองซื้อหลักทรัพย์ (Subscription) : ระบบจะช่วยรวบรวมข้อมูลของผู้ลงทุนที่จองซื้อกับผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์แต่ละรายเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงกัน และเป็นปัจจุบัน

4. การจัดทำทะเบียนหลักทรัพย์ (Bond Registration) : ระบบจะช่วยรวบรวมข้อมูลการจัดสรรตราสารหนี้ของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์เพื่อนำส่งให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนผู้ถือตราสารหนี้

5. การฝากตราสารหนี้แบบไร้ใบ (Scripless Crediting) : ระบบจะนำส่งข้อมูลตราสารหนี้หลังจากที่ได้ทำทะเบียนแล้วผ่านระบบศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (Depository) เพื่อนำฝากตราสารหนี้แบบไร้ใบ (scripless) เข้าสู่บัญชีหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน

6. การรายงานภายหลังการขาย (Post sales report) : ระบบจะดำเนินการ auto-generate รายงานผลการขายเมื่อกระบวนการข้างต้นทั้งหมดเสร็จสิ้น และนำส่งข้อมูลดังกล่าวต่อ ก.ล.ต. โดยอัตโนมัติ

*ระบบ DIF : Web Portal ดีอย่างไร

  • ผู้ออกหลักทรัพย์ (issuers) การยื่นออกเสนอขายต่อ ก.ล.ต. ผ่านระบบ Web Portal ข้อมูลจะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็น file format มาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม โดยสามารถนำไปประมวลผลแบบ machine readable ต่อได้อย่างรวดเร็ว พร้อมประยุกต์ใช้วิธีการลงนามแบบ e-signature ที่จะทำให้กระบวนการโดยรวมเป็นดิจิทัล 100% รวมทั้งลดการทำงานแบบ manual และช่วยทำให้การออกขายหุ้นกู้ทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
  • ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง (intermediaries) ระบบ DIF : Web Portal จะเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมตราสารหนี้ เช่น ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ นายทะเบียน หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เป็นต้น ได้เข้ามาดำเนินการที่เกี่ยวข้องผ่านระบบอย่างเป็นมาตรฐานด้วยชุดข้อมูลเดียวกัน (single source) โดยข้อมูลการทำธุรกรรมจะถูกบันทึกและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมตราสารหนี้ในตลาดแรกโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดและระยะเวลาการทำงานของผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง ทั้งยังมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่ใช้มีความครบถ้วน ถูกต้องแม่นยำ
  • ผู้ลงทุน ได้รับหุ้นกู้แบบไร้ใบหลักทรัพย์ (scripless) ภายใน 2 วันทำการ นับจากวันที่ออกหลักทรัพย์ (issue date) ซึ่งรวดเร็วและมีความพร้อมต่อการซื้อขายในตลาดรองได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับการออกใบหลักทรัพย์ที่เป็นกระดาษ (scrip) ที่ใช้เวลาถึง 14 วัน
  • หน่วยงานกำกับดูแล กระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติการออกและเสนอขายตราสารหนี้จะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ตลอดสาย ตั้งแต่การรับเข้าข้อมูลที่จะเป็นไฟล์ดิจิทัลทั้งหมดโดยที่ไม่มีกระดาษ (paperless) ไปจนถึงการแจ้งสถานะการพิจารณาต่อผู้ออกหลักทรัพย์ก็จะดำเนินการผ่านระบบ Web Portal ด้วยเช่นกัน จึงทำให้ผู้ออกหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางสามารถดำเนินการขั้นถัดไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ลดระยะของกระบวนการออกเสนอขายโดยรวมได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ในระยะยาวยังช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างเพียงพอในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อการพัฒนาธุรกิจตลาดทุนต่อไปในอนาคต

*ขอบเขตของการทดสอบระบบ DIF : Web Portal

การทดสอบภายใต้โครงการ Sandbox ในครั้งนี้ จำกัดขอบเขตการออกและเสนอขายไว้เฉพาะตราสารหนี้ภาคเอกชนประเภทหุ้นกู้หรือพันธบัตร (plain vanilla bond) ระยะยาวที่ออกใหม่โดยกิจการไทย กิจการต่างประเทศ หรือหน่วยงานภาครัฐไทยในสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินต่างประเทศ 6 สกุลเงิน (EUR, GBP, HKD, JPY, THB และ USD) และรองรับการออกเสนอขายเฉพาะต่อบุคคลในวงจำกัด (private placement) ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน (II) ผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW) เท่านั้น ก่อนที่จะขยาย scope ในระยะถัดไป เมื่อมีการพัฒนาระบบส่วนขยายเพิ่มเติม

*DIF bond แตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปอย่างไร

หุ้นกู้ DIF bond มีสิทธิทางกฎหมายเหมือนกับหุ้นกู้ทั่วไปทุกประการ เช่น การได้รับดอกเบี้ย การซื้อขาย เปลี่ยนมือ หรือการนำไปเป็นหลักประกัน เป็นต้น โดยเมื่อภายหลังจากที่ผู้ลงทุนได้รับหุ้นกู้ DIF Bond ที่เป็น scripless แล้ว หากมีความจำเป็นต้องถอนหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นใบหุ้นกู้ หรือหากมีการเปิดบัญชีหลักทรัพย์ภายหลังและต้องการโอนหุ้นกู้ไปเก็บไว้ในบัญชีส่วนตัวก็สามารถดำเนินการได้ตามเดิม

*เริ่มลงทุนใน DIF Bond ต้องทำอย่างไร

ในการจองซื้อหุ้นกู้ DIF-bond ภายใต้โครงการ Sandbox ผู้ลงทุนจะได้รับหุ้นกู้แบบ scripless โดยสามารถดำเนินการได้ ดังนี้

1. ฝากเข้าพอร์ต: ผู้ลงทุนจะต้องมีบัญชีหลักทรัพย์เพื่อรองรับการลงทุนในหุ้นกู้แบบ scripless โดยสามารถเปิดบัญชีดังกล่าวกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการได้ ซึ่งจะทำให้การส่งมอบหลักทรัพย์และการนำไปซื้อขายในตลาดรองทำได้สะดวก รวดเร็ว

2. เก็บในบัญชี 605: หากผู้ลงทุนไม่มีบัญชีหลักทรัพย์ของตนเองก็สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) ถึงการฝากในบัญชี 605 ซึ่งคือบัญชีที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer Account) เปิดไว้กับบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาหุ้นกู้ให้กับผู้ลงทุนที่ยังไม่มีบัญชีหลักทรัพย์ สามารถนำหลักทรัพย์มาฝากไว้ในบัญชีนี้ได้

สำหรับการทดสอบระบบ Web Portal กับผู้ใช้งานจริงภายใต้โครงการ Sandbox ที่จะเริ่มในช่วงปลายเดือนเมษายน 2566 คาดว่าจะมีหุ้นกู้รุ่นแรกออกเสนอขายในเร็ว ๆ นี้ ซึ่ง ก.ล.ต. จะติดตามการทดสอบและนำมาเล่าความคืบหน้าผ่านช่องทางของ ก.ล.ต. เป็นระยะในโอกาสถัดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ