บล.เอเซีย พลัส ปรับลดเป้าดัชนี SET ปี 66 ลงเหลือ 1,610-1,670 จุด จากเดิม 1,740 จุด หลังจากที่ยังมีความเสี่ยงและความผันผวนจากปัจจัยภายนอกอยู่มาก โดยกลยุทธ์การลงทุนแนะนำทยอยสะสมหุ้นเมื่อ SET Index อยู่ในระดับต่ำกว่า 1,610 จุด โดยเลือกหุ้นสภาพคล่องสูง (เป็นเป้าหมายของ Fund Flow) บวกกับกำไรมีแนวโน้มผ่านจุดเลวร้าย (Bottom Out) ได้แก่ ADVANC, AMATA, BGRIM, SNNP, JMT, STEC
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/66 ยังคงมีความผันผวน เพราะติดอยู่กับความกังวลของทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ปัญหาระบบสถาบันการเงิน และความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
วงจรความกังวลมีจุดเริ่มต้นมาจากการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/66 ที่ผ่านมาเริ่มเห็นผลกระทบมายังภาคสถาบันการเงินสหรัฐฯ (SVB) และยุโรป (Credit Suisse) ประสบปัญหาสภาพคล่องก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ SNB จะเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที แต่ประเมินว่าปัญหาข้างต้นมีแนวโน้มยังมีความเสี่ยงขยายวงกว้างไปยังสถาบันการเงินต่างๆ หากต้นเหตุที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่อีกด้านหนึ่งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปที่เข้าสู่ภาวะ Recession มากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นโลกและตลาดหุ้นไทยคงหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก
อย่างไรด็ตาม ปัจจัยในประเทศที่มีน้ำหนักในทางบวกจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาค่อนข้างโดดเด่น ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาเกือบ 6 ล้านคนแล้ว สิ้นปีคาดว่าจะอยู่ที่ 30 ล้านคน ใกล้กับก่อนช่วงเกิดโควิด-19 ที่ 40 ล้านคน ถือว่าภาคการท่องเที่ยวไทยมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ประกอบกับการบริโภคครัวเรือนที่กลับฟื้นตัวขึ้น จากการที่คนมีรายได้กลับมามากขึ้น และทิศทางของการเติบโตเศรษฐกิจไทยยังเห็นการเติบโตได้ 3.6% ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดีกว่า GDP โลกที่ Consensus คาดโตเฉลี่ย 2.3%
นอกจากนี้ ในประเทศยังมีปัจจัยเลือกตั้งที่จะเข้ามาสนับสนุน ทั้งช่วงก่อนการเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง โดยคาดว่าหลังจากเลือกตั้งเสร็จสิ้นในช่วง 1 สัปดาห์ ตามสถิติดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ราว 3.81% จึงเป็นจังหวะที่นักลงทุนมีโอกาสเทรดดิ้งได้ โดยให้กรอบในไตรมาส 2/66 ไว้ที่ 1,544-1,630 จุด ซึ่งในช่วงที่ดัชนีต่ำกว่า 1,610 จุด เป็นโอกาสเข้าทยอยสะสมได้
และหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ยังคงต้องจับตาการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมแจกเงินให้จับจ่ายใช้สอยจะสามารถกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะยาวกลาง-ยาวได้หรือไม่ เพราะสิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ การใส่เงินเข้าไปแล้วหากไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้จริง และไม่เกิดเงินหมุนเวียนที่แท้จริงในเศรษฐกิจ จะเป็นการใช้งบประมาณภาครัฐที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และกลายเป็นภาระทางการคลัง
ขณะที่ทิศทางกำไรบริษัทจดทะเบียนในช่วงไตรมาส 1/66 คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 4/65 ได้แล้ว หลังจากผลการดำเนินงานไตรมาส 4/65 ออกมาเซอร์ไพร์ส ต่ำกว่า Consensus ถึง 30% ทำให้นักวิเคราะห์ต่างปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนลง รวมถึงบล.เอเซีย พลัส ที่ปรับลดคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 66 อยู่ที่ 1.12 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ระดับ 91.8 บาท/หุ้น เติบโต 12.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งกำไรบริษัทจดทะเบียนของหลายๆประเทศที่พัฒนาแล้วยังเติบโตไม่ถึง 2 หลัก ทำให้ปัจจัยของกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยที่เติบโตเด่นจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดกระแสเงินทุน (Fund Flow) เข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทยได้
นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยภายนอกยังเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อ Sentiment ภาพรวมของตลาดหุ้นต่างประเทศ และตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน จากความเสี่ยงของการเกิด Recession ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นไปสูง ทำให้ความเสี่ยงของการล้มของธนาคารยังคงมีอยู่ รวมไปถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนของนโยบายการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค ที่ยังเป็นความเสี่ยงต่อราคาน้ำมันให้ดีดกลับมาสูง และส่งผลต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อในฝั่งซัพพลาย ทำให้เป็นความเสี่ยงในการที่ไม่สามารถหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ แม้ว่าแนวโน้มดอกเบี้ยในปัจจุบันจะเริ่มเข้าสู่โหมดการคงดอกเบี้ยแล้วก็ตาม
"เรายังคงอยู่ท่ามกลางทะเลทราย ที่มองออกไปข้างนอกเจอแต่ความแห้งแล้ง แต่ก็ยังมีโอเอซิส ให้เราได้พักดื่มน้ำให้สดชื่นได้เล็กๆ เมื่อเรามองเข้ามาในประเทศของเราที่ดีกว่าคนอี่น แต่อย่าลืมที่เราดีกว่าคนอื่นเพราะเราฟื้นช้ากว่าเขา ทำให้เป็นโอกาสที่เราจะหาจังหวะตรงนี้ในการลงทุนได้" นายเทิดศักดิ์ กล่าว