(เพิ่มเติม) SH เดินหน้าเอทานอลแม้ต้องทบทวนหลังราคาวัตถุดิบพุ่ง/ปีนี้คาดขาดทุนลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 22, 2008 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (การลงทุน) บมจ.ซีฮอร์ส (SH) เปิดเผยว่า โครงการเอทานอลของบริษัทระหว่างนี้จะกลับมาทบทวนโครงการรอบด้าน โดยจะดูภาพรวมอุตสาหกรรม แนวโน้มธุรกิจ และที่สำคัญนโยบายรัฐบาลต่อธุรกิจเอทานอลที่จะเป็นพลังงานทดแทนในอนาคต 
เนื่องจากประเด็นสำคัญคือขณะนี้ต้นทุนวัตถุดิบคือมันสำปะหลังราคาปรับขึ้นเท่าตัว มาอยูที่ 2.50-2.70 บาท/กก. จากปีก่อนที่ราคาอยู่ที่ 1.30-1.50 บาท/กก. เพิ่มจากปี 49 อยู่ที่ 0.90 บาท/กก.
"วัตถุดิบที่ปรับขึ้นมาเท่าตัวเป็นตัวทำให้เราต้องกลับมานั่งคิดอย่างจริงจัง ดูภาพรวม ว่าแนวทางที่เรจะเดินต่อไปควรจะเดินไปยังไง เราต้องคิดอย่างรอบคอบ คิดว่าไม่นานนี้จะรู้ผล" นายสมโภชน์กล่าว
โครงการเอทานอลของบริษัทล่าช้ากว่าแผน 6-12 เดือน โดยคาดว่าปีนี้คงจะสร้างเสร็จไม่ทันเพราะอย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 12 เดือน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวงเงินลงทุนโครงการเอทานอลยังคงเดิมที่ 5 พันล้านบาท กำลังการผลิต 1.5 ล้านลิตรต่อวัน โดยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 3 พันไร่
ทั้งนี้ แหล่งเงินลงทุน จะมาจากเงินสดของบริษัทที่มีประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท และที่เหลืออาจจะกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยปัจจุบันบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำกว่า 1 เท่า ส่วนแนวทางการเพิ่มทุนขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาอย่างเป็นทางการ
"ขณะนี้ยังไม่ได้พูดถึงช่องทางเพิ่มทุน เราอาจมีแนวทางอื่นเช่น จากซัพพลายเออร์เครดิต"นายสมโภชน์กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทได้ขอยื่นกับทางสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่จะขอเปลี่ยนบริษัท บุญเอนก จำกัดที่ได้รับบีโอไอในโครงการเอทานอล เป็นบมจ.ซีฮอร์ส แทน ซึ่งขณะนี้กำลังรอผลการพิจารณา ขณะเดียวกัน SH ก็ได้ทำสัญญา กับ ทางสปก. ในการเข้าโครงการรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร จากพื้นที่ผลิต 5 แสนไร่
ปัจจุบันราคาขายเอทานอล อยู่ที่ 14-15 บาท/ลิตรซึ่งเป็นราคาต่ำทำให้ผู้ผลิตเอทานอลปัจจุบันลดกำลังการผลิตเหลือ 7-8 แสนลิตร/วันจากกำลังการผลิตเป็น 1.4 ล้านลิตร/วัน
อย่างไรก็ดี บริษัทได้ศึกษากระจายความเสี่ยงจากธุรกิจเอทานอล โดยอาจจะสร้างโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่มีความต้องการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ด้านนายวรเจตน์ อินทามาระ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ(เอทานอล) SH กล่าวว่าหากบริษัทสามารถดำเนินโครงการเอทานอลได้ เชื่อแน่ว่าบริษัทจะสามารถพลิกมีกำไรได้
*คาดหวังขาดทุนปีนี้ลดลง
นายสมโภชน์ กล่าววว่า ในปี 51 SH ยังคงมีรายได้จากธุรกิจส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง ที่คาดว่าปีนี้จะมีรายได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 800 ล้านบาท แต่คาดว่าจะขาดทุนลดลงจากปีก่อนที่ขาดทุน 140 ล้านบาท เป็นเพราะปีนี้จะมีกำไรจากการที่บริษัทได้ตั้งสำรองซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศเมื่อปีก่อน กว่า 50 ล้านบาท
"ธุรกิจส่งออกเราขาดทุนติดต่อกัน 2 ปีแล้ว เพราะปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าที่คาด เพราะเวลาเราโค้ดราคาขายล่วงหน้า 3 เดือน ยังไงคิดว่าธุรกิจนี้คงไม่ค่อยโต" นายสมโภชน์ กล่าว
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 50 บริษัทมีขาดทุนสะสม 617 ล้านบาท
นายสมโภชน์กล่าวว่า สินค้าหลักเป็นปลาหมึกกระป๋อง ส่งออกตลาดหลักที่สหภาพยุโรป โดยปัจจุบันบริษัทหันไปรับซื้อปลาหมีกสดที่มาเลเซียซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าไทย เพราะรัฐบาลมาเลเซียอุดหนุนน้ำมันประมง
นายสมโภชน์ ยังกล่าวว่า บริษัทคงไม่พ้นตลาดต้องติดตามเรื่องสภาพคล่อง(free float) ที่ยังมีไม่ถึคง 10% จากเกณฑ์ 15% ซึ่งยังคิดไม่ออกหาทางออกอย่างไร โดยขณะนี้ กลุ่มของเขา ได้แก่ นายสมโภชน์ , นายวรเจตน์ และ นายชาตรี มหัธนาดุลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (อาหาร) SH ถือหุ้นรวมกันเกิน 50% นอกนั้น นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ SH และ บริษัท คอม-ลิงค์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่ด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ