ลุ้น บมจ.สตาร์ คอร์ปอเรชั่น (STARK) เปิดปมปัญหาใหญ่ในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ดีเดย์ 28 เม.ย.นี้ หลังจากเกิดมรสุมหนักถึงขั้นบอร์ดเด้งออกยกชุด ตั้งแต่เพิ่มทุนขาย PP ให้นักลงทุนสถาบันกว่า 5.58 พันล้านบาท-ล้มแผนเทค LEONI-เลื่อนส่งงบปี 65 จนมาถึงการถูกหั่นอันดับเครดิตส่อร่วงไปเป็น Junk Bond สะเทือนถึงภาระหนี้ที่มีแบงก์ใหญ่-หุ้นกู้ 5 ชุดที่จะเป็นระเบิดเวลาลูกต่อไป
เจ้าหนี้าที่บล.เอเซีย พลัสในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ STARK ระบุว่า ในการประชุมผู้ถิอหุ้นกู้ในวันที่ 28 เม.ย.นี้เวลา 14.00 น.จะมีการพิจารณาวาระแรกว่าที่ประชุมจะยกเว้นเหตุผิดนัดการส่งงบการเงินปี 65 หรือไม่ ทางบริษัทืมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร หากไม่ยกเว้น ก็จะพิจารณาต่อไปในวาระที่สองเพื่อโหวตเรียกบังคับ STARK จ่ายเงินหุ้นกู้คืนทั้งหมดกว่า 9 พันล้านบาทภายใน 30 วัน
อย่างไรก็ตาม หากมีการเรียกบังคับให้ STARK จ่ายคืนหุ้นกู้ทั้งหมดจริงก็จะสร้างความลำบากให้กับ STARK เพราะต้องหาเงินมาคืนให้ได้ภายใน 30 วัน ขณะที่ STARK แจ้งล่าสุดว่าจะส่งงบการเงินปี 65 ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งไม่ทันกับกำหนดการนำเงินมาชำระคืน ดังนั้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการโหวตของผู้ถือหุ้นกู้
จุดเริ่มต้นมาจาก STARK เปิดแผนงานที่จะเข้าซื้อ LEONI Kabel GmbH ในเยอรมนี และ LEONIsche Holding Inc ในสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสายไฟสำหรับรถยนต์และสายไฟสำหรับ EV Charging Solutions อันดับต้น ๆ ของโลก มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้นราว 560 ล้านยูโร หรือประมาณ 20,588.90 ล้านบาทในเดือน พ.ค.65 สอดรับกับแผนการขยายธุรกิจในกลุ่มสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลไฟฟ้าเจาะตลาดรถ EV
แต่บริษัทมีกระแสเงินสดไม่พอจึงตัดสินใจออกหุ้นเพิ่มทุน 1,500 ล้านหุ้นให้กับบุคคลในวงจำกัด (PP) และในเดือนต.ค.65 ก็ประกาศการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้กับ PP จำนวน 12 ราย ในราคา 3.72 บาท/หุ้น เพื่อระดมทุน 5,580 ล้านบาท ได้แก่
1.Credit Suisse (Singapore) Limited จำนวน 74,399,900 หุ้น (สัดส่วน 0.5550%)
2. The Hongkong and Shanghai Banking Corporation Limited, Singapore Branch จำนวน 353,000,000 หุ้น (สัดส่วน 2.6387%)
3.UOB Kay Hian Private Limited จำนวน 58,500,000 หุ้น (สัดส่วนถือ 0.4634%)
4.บลจ.บัวหลวง จำนวน 320,000,000 หุ้น (สัดส่วน 6.5053%)
5.บลจ.กสิกรไทย จำนวน 268,817,200 หุ้น (สีดส่วน 2.5200%)
6.บริษัท เอสซีบี แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ จำกัด จำนวน 182,000,000 หุ้น (สัดส่วน 1.3576%)
7.บลจ.เกียรตินาคินภัทร จำนวน 53,763,000 หุ้น (สัดส่วน 0.8681%)
8.บมจบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) จำนวน 51,000,000 หุ้น (สีดส่วน 0.8653%)
9.บลจ.วรรณ จำนวน 47,029,800 หุ้น (สีดส่วน 0.3508%)
10.บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (TLI) จำนวน 30,000,000 หุ้น (สัดส่วน 0.2238%)
11.บลจ.กรุงไทย จำนวน 29,000,000 หุ้น (สัดส่วน 0.2163%)
12.บลจ.อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) จำนวน 32,490,100 หุ้น (สัดส่วน 0.2423%)
แต่ STARK กลับล้มดีลซื้อ LEONI ทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ เมื่อ 13 ธ.ค.65 โดยให้เหตุผลว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางลบหลังสงครามรัสเซียยูเครนยังยืดเยื้อ จึงเปลี่ยนแปลงการใช้เงินเพิ่มทุนใหม่ แต่ยังไม่ได้ระบุความชัดเจนที่จะนำเงินเพิ่มทุนไปใช้ ท่ามกลางกระแสข่าวในวงการที่ระบุว่าอาจมีการนำเงินเพิ่มทุนไปใช้หนี้แทนที่จะนำไปต่อยอดธุรกิจ ซึ่งผิดวัตถุประสงคฺ์ของการเพิ่มทุน ขณะที่ผู้บริหาร STARK ออกมาท้าทายให้รอดูงบของ LEONI ของปี 65 เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่าการตัดสินใจล้มดีลเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่
จากการล้มดีลดังกล่าวทำให้ราคาหุ้น STARK ดิ่งลงมาต่ำกว่า 3.00 บาท จากที่ขึ้นไปสูงสุดที่ 5.10 บาทในเดือน พ.ค.65 และยังไม่ทันจะมีข้อพิสูจน์ใด ๆ ออกมา STARK ก็ได้ขอเลื่อนส่งงบการเงินปี 65 หลังจากส่งล่าช้ากว่ากำหนด จนนำไปสู่การถูกขึ้น SP เมื่อวันที่ 1 มี.ค.66 ซึ่งราคาหุ้น STARK ลงไปลึกที่ 2.38 บาทในวันสุดท้ายการซื้อขาย (28 ก.พ.66) ก่อนถูกแขวน SP
ก่อนหน้านี้ บริษัทระบุว่าจะนำส่งงบการเงิน ปี 65 ภายในวันที่ 31 มี.ค.66 แต่ก็ยังไม่สามารถนำส่งได้ทันจึงขอเลื่อนอีกครั้งเป็นภายในวันที่ 21 เม.ย.66 แต่ก่อนกำหนด ฟ้าผ่า STARK กรรมการยกทีมลาออก 7 คนนำโดยนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นคีย์แมนคนสำคัญ ยกเว้นนายธนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อันดับ 1 (ถือ 25.1503%) ซึ่งต่อมาก็นั่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทน นอกจากนี้ STARK ก็แจ้งเลื่อนส่งงบอีกครั้งหนึ่งเป็นรอบที่ 3 เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา
จากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ส่งผลให้สถาบันจัดอันดับเครดิตหลักของไทยอย่าง ทริสเรทติ้ง ออกมาประกาศหั่นอันดับเครดิตองค์กร STARK ลงสู่ระดับ "BB-" จาก "BBB+" และยังคงให้ "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" เพราะมองว่าการเปลี่ยนแปลงบอร์ดยกชุดบ่งชี้ถึงความรุนแรงของปัญหาการบริหารภายใน ซึ่งจนถึงปัจจุบันบริษัทยังไม่สามารถชี้แจงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้นอกจากนี้ การขอเลื่อนส่งงบการเงินออกไปอีกนั้นทำให้เกิดข้อสงสัยมากมายยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของงบการเงินในอดีต
และ ผลจากการที่บริษัทไม่สามารถจัดส่งงบการเงินได้ตามเวลาที่กำหนด ถือว่าเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้จะจัดประชุมในวันที่ 28 เม.ย.66 เพื่อพิจารณาการยกเว้นเหตุผิดนัดจากการส่งงบการเงินล่าช้า ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นกู้มีมติไม่ยกเว้นให้ก็มีสิทธิประกาศเหตุผิดนัดและเรียกร้องให้จ่ายหนี้ทั้งหมดทันที และมีโอกาสที่ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทลงสู่ระดับ "C" หรือ "D" ขึ้นอยู่กับผลการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ที่จะเกิดขึ้น
ปัจจุบัน หุ้นกู้ STARK มีทั้งหมด 5 รุ่นที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน รวมมูลค่ากว่า 9,198.4 ล้านบาท โดยมี ธนาคารกสิกรไทย และ บล. เอเซีย พลัส ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ดังนี้
ชุดที่ 1 STARK239A มูลค่า 1,291.5 ล้านบาท อายุ 2 ปี ดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน 2 ก.ย.66
ชุดที่ 2 STARK249A มูลค่า 949.5 ล้านบาท อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 3.9% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน 2 ก.ย.67
ชุดที่ 3 STARK245A มูลค่า 1,701.1 ล้านบาท อายุ 2 ปี ดอกเบี้ย 3.8% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน 12 พ.ค.67
ชุดที่ 4 STARK255A มูลค่า 1,322.0 ล้านบาท อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 4.0% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน 12 พ.ค.68
ชุดที่ 5 STARK242A มูลค่า 3,934.3 ล้านบาท อายุ 1.25 ปี ดอกเบี้ย 4.0% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน 17 ก.พ.67
นอกจากนี้ STARK ยังมีหนี้ค้างชำระกับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ รวมกันประมาณ 8 พันล้านบาทที่ยังน่ากังวลว่าจะชำระคืนได้หรือไม่ จนส่งผลให้หุ้นของทั้ง KBANK และ SCB ร่วงระนาวกันไป เพราะคาดหมายว่าจะต้องมีการตั้งสำรองกันมากขึ้น
โครงสร้างผู้ถือหุ้นหลังการเพิ่มทุน 1.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 25.1503% 2.Credit Suisse AG, Singapore Branch 19.4091% 3.Stark Investment Corporation Limited 18.6478% 4.บลจ.บัวหลวง 6.5053% 5.The Hongkong and Shanghai Banking ,Singapore Branch 2.6331% 6.บลจ.กสิกรไทย 2.5200% 7.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 2.2684% 8.South East Asia UK (Type C)Nominees Limited 1.5141% 9.บริษัท เอสซีบี แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ จำกัด 1.3576% 10.นายณัฐภัทร ศุภนันตฤกษ์ 1.2468% 11.นายนเรศ งามอภิชน 1.1457%