นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยนัดแรกเช้าวันนี้ สรุปเบื้องต้นตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด แบ่งฝั่งจัดทำแผนระยะยาวพัฒนาตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้
โดยคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการพัฒนาตลาดทุนไทยมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาตลาดทุนที่เป็นรูปธรรม มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และครอบคลุมทุกองค์ประกอบของตลาดทุน ทั้งตลาดตราสารทุน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารอนุพันธ์ โดยแผนดังกล่าวจะเป็นแผนพัฒนาระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2552-61 ซึ่งกำหนดกรอบเวลาการจัดทำแผนให้แล้วเสร็จใน 6 เดือนข้างหน้าเพื่อประกาศใช้
ซึ่งแผนพัฒนาฯ จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยในช่วง 2-3 ปีแรกจะเน้นการยกระดับและสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนไทย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนในประเทศ และสามารถแข่งขันได้กับตลาดทุนในต่างประเทศ ส่วนช่วงที่สองจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงตลาดทุนไทยให้เป็นศูนย์กลางการระดมทุนและการลงทุนในภูมิภาคอินโดจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในอนาคตอาจจะรวมไปถึงประเทศในกลุ่มความร่วมมือ ASEAN+3
สำหรับแนวทางการพัฒนาตลาดทุนระยะเร่งด่วนในปี 51 ได้แก่ การสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มบริษัทจดทะเบียนใหม่, การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันภาษีระหว่างเครื่องมือทางการเงินประเภทต่างๆ, การออกพันธบัตรรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงให้กับตลาด และการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการของบริษัทจดทะเบียน
ส่วนมาตรการที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 52 ได้แก่ การแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, การส่งเสริมให้มีการจัดทำระบบบำเหน็จบำนาญที่สมบูรณ์, การเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทใหม่ๆ, การขยายฐานผู้ลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับ และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ได้แก่ การสร้างแรงจูงใจให้มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนโดยการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, การสนับสนุนนโยบายการออมระยะยาวและการสร้างนักลงทุนสถาบันโดยการเพิ่มวงเงินสำหรับการหักลดหย่อนสำหรับเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) และกองทุนรวมหุ้นรวมระยะยาว (LTF) รวมทั้งการส่งเสริมบรรษัทภิบาลในตลาดทุนโดยการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อส่งเสริมบรรษัทภิบาลของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ แนวทางในการพัฒนาตลาดทุนไทยช่วงต่อไปนั้น ประกอบด้วย เป้าหมายสำคัญ 6 ด้าน คือ เพิ่มประสิทธิภาพของตลาดทุนโดยรวม โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ, การลดต้นทุนทางการเงินในการระดมทุน, เสริมสร้างขนาดของตลาดทุน, เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุน, เพิ่มความสามารถในการบริหารความเสี่ยง, เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดทุน, สร้างความรู้และการปกป้องผู้ลงทุน และรักษาเสถียรภาพของตลาดทุนไทย
หลังจากปรับโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับตลาดทุนในประเทศแล้ว ทางการจะได้ดำเนินการเพื่อเอื้อให้ไทยสามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของตลาดทุนในภูมิภาคไปพร้อมกันด้วย ซึ่งจะรวมถึงการส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาค ทั้งในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารอนุพันธ์ เพื่อเป็นฐานสำคัญในการแข่งขันในตลาดทุนโลก ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดในประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการระดมทุน เพิ่มผลตอบแทนในการออม สร้างเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะใช้ในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยยกระดับให้คนไทยโดยรวมสามารถแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างยั่งยืน
ส่วนคณะอนุกรรมการกำกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้นั้นจะมีหน้าที่ดูแลการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ตามแผนที่มีอยู่แล้วเดิมให้ดำเนินต่อไปในระหว่างการจัดทำแผนฯ ฉบับใหม่
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--