นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากถ้อยแถลงของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา มีการเน้นเรื่องของเสถียรภาพระบบธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐว่ายังแข็งแกร่ง และเริ่มดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนมี.ค. แต่การปล่อยสินเชื่อ (credit conditions) ที่เข้มงวดอยู่แล้ว จะเข้มงวดขึ้นอีก หลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดธนาคารหลายแห่ง และจะมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน รวมถึงเงินเฟ้อ
ที่ประชุม FOMC เน้นย้ำว่ายังยึดมั่นกับการนำเงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า การชะลอตัวลงของเงินเฟ้อได้เริ่มขึ้นแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น การจะนำเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด กลับลงไปสู่ระดับ 2% ยังคงต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร และงานของเฟดในการจัดการเงินเฟ้อยังไม่เสร็จ อย่างไรก็ตาม ผลของดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มเห็นชัดในภาคการลงทุน และอสังหาริมทรัพย์ แต่ผลต่อเงินเฟ้อยังคงต้องติดตามกัน ส่วนความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่มาจากค่าจ้าง เริ่มเห็นสัญญาณอัตราการเติบโตของค่าจ้างที่ชะลอลงบ้างแล้ว
โดยการปรับนโยบายดอกเบี้ยหลังจากนี้ จะพิจารณาจากผลสะสมของนโยบายการเงินที่ตึงตัว จากการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และระยะเวลา (lags) ที่ผลของนโยบายการเงินจะมีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงิน โดยเน้นว่าการตัดสินใจปรับนโยบายการเงินในแต่ละการประชุม จะเน้นรูปแบบ Data dependent พร้อมปรับเปลี่ยนเมื่อความเสี่ยงเข้ามาในระบบ โดยจะพิจารณาถึงภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดัน และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงตลาดการเงิน ทั้งในและต่างประเทศ
ในมุมมองของประธานเฟด ประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะมีลักษณะ soft landing คือมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัว และโตต่ำกว่าแนมโน้มปกติ (below trend growth) แต่ยังโตเป็นบวก โดยประธานเฟดเน้นว่ามุมมอง soft landing เป็นมุมมองส่วนตัว ไม่ใช่ของทั้งคณะกรรมการ FOMC
โดย SCB CIO ประเมินว่าเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย และคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ตลอดทั้งปี 66 ยังคงมุมมอง Positive ต่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และ slightly positive ต่อหุ้นกู้ Investment grade
โดยสัญญาณจากเฟดชัดเจนมากขึ้น เมื่อความตึงเครียดในภาคการเงิน (Financial sector stress) จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน จากความเข้มงวดขึ้นของการปล่อยสินเชื่อ ในการแถลงข่าว ประธานเฟดระบุว่า มีการเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้น และจะมีการเข้ามาจัดการแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดย SCB CIO ประเมินว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่ใช้กับภาคธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและเล็ก จะมีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้า
ตลาดยังคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปี 66 แต่ SCB CIO ยังคงมุมมองว่าการลดดอกเบี้ย มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากในปีนี้ เนื่องจากเฟดยังให้น้ำหนักด้านเงินเฟ้อค่อนข้างมาก โดยในการแถลงข่าวประธานเฟด ระบุว่าการชะลอตัวของเงินเฟ้อเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่เร็วพอที่จะทำให้สามารถลดดอกเบี้ยได้
โดยเงื่อนไขของการหยุดขึ้นดอกเบี้ย จะมีการเปิดเผยในรายละเอียดการประชุมในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า จะเป็นตัวชี้ชัดว่า การหยุดขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเมื่อไร และ Dot plot ที่จะเป็นตัวส่งสัญญาณชัดว่าเฟดจะมีการลดดอกเบี้ยหรือไม่อย่างไร จะมีการเปิดเผยในการประชุมครั้งถัดไป ในช่วงระหว่างวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ จากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น แนะนำให้นักลงทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedge) ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (Positive) ในพอร์ต โดยจากการวิเคราะของ SCB CIO พบว่า ช่วงที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงถดถอยสูง (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI <50 ลดลงต่อเนื่อง) และเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง พบว่า สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่อความผันผวน (Risk-adjusted return) พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นสินทรัพย์ที่ช่วยรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้ดีที่สุด ตามมาด้วยหุ้นกู้คุณภาพสูง (Slightly Positive) แต่ยังคงมุมมองหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) เป็น Slightly Negative เนื่องจากส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนจากหุ้นกู้ High Yield เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล ราคาหุ้นกู้ High Yield ลดลง หลังการปล่อยสินเชื่อมีความเข้มงวดสูงขึ้น