นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) กล่าวว่า บริษัทเดินหน้าสู่เป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ภายในปี 68 แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 115 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 50 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมในต่างประเทศ 135 เมกะวัตต์
บริษัทเข้าร่วมลงทุนและจ่ายชำระค่าหุ้นสามัญของ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จำกัด (MKP) ครบถ้วนในสัดส่วน 40% ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว ซึ่ง MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ตั้งแต่เดือน พ.ค.63 ระยะเวลา 25 ปีนับจากวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)
นอกจากนี้ บริษัทฯ กำลังศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศ ประเภท พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 500 เมกะวัตต์ ทั้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เวียดนาม และกัมพูชาเพิ่มเติม
สำหรับการลงทุนภายในประเทศในส่วนของโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 5-7 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) ซึ่ง TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในปีนี้ ประมาณ 1-2 โครงการ โดยเป็นโครงการรูปแบบ VSPP ทั้งหมด
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร TPCH เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/66 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566) มีกำไรสุทธิ 110.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.78 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 36.99 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 786.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 160.99 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 25.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวม 625.52 ล้านบาท
สาเหตุหลักที่ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นมาจากการทยอยรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการโรงไฟฟ้า รวม 11 แห่ง ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 ,TPCH 2 และโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ SP มีกำลังการผลิตรวม 116.3 เมกะวัตต์
"ภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 1/66 ยังเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากโรงไฟฟ้าทั้ง 11 แห่งสามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามปกติและมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การ COD ของโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา (PBB) กำลังการผลิตติดตั้ง 3 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ TPCH มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 119.3 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถทยอยรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น
รวมถึง การเตรียม COD โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน (PBM) กำลังการผลิตติดตั้ง 3 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบระบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการ COD คาดว่าจะสามารถ COD ได้ภายในไตรมาส 2/66 นี้ หนุนธุรกิจเข้าสู่โหมดเติบโตรอบใหม่" นางกนกทิพย์กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทได้นำโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลทั้ง 10 โครงการ ไปขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในรูปแบบ I-REC Standard โดยในปี 65 โดยนำกระแสไฟฟ้าหมุนเวียนที่ผลิตได้ไปขึ้นทะเบียนและคำนวณเป็นเครดิต (REC) ที่ประมาณ 705,000 หน่วย ซึ่งได้มีการเซ็นสัญญาขายเครดิตกับบริษัทเอกชนต่างๆไปเรียบร้อยแล้วบางส่วน