นายบรรณัฐ นาคพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซี.ไอ.กรุ๊ป (CIG) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ทำการปลดเครื่องหมาย C หุ้น CIG ในวันนี้หลังการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการภายในอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้วตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ สำหรับงบการเงินไตรมาส 1/66 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.66
และในวันนี้บริษัทได้ออกและจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 9 (CIG-W9) จำนวน 289,030,750 หน่วย จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 289,030,750 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 0.50 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ CIG-W9 ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น ในอัตรา 6 หุ้น สามัญเดิม ต่อใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วย
ส่วนการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนรอบ 2 (RO2) จำนวน 867,092,251 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 0.50 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น ในอัตรา 2 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ บริษัทพร้อมออกและจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 10 (CIG-W10) ให้กับผู้ที่จองซื้อ RO2 ในระหว่างวันที่ 24 พ.ค.-7 มิ.ย.66 ในอัตราส่วนหุ้นสามัญที่จองซื้อ 6 หุ้นต่อใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วย โดยบริษัทจะทำการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 144,515,375 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 0.50 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิ CIG-W10 ในวันที่ 12 มิ.ย.66
และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 864,788,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 0.50 เพื่อรองรับหุ้นกู้แปลงสภาพ จำนวนไม่เกิน 864,788 หน่วย ราคาเสนอขาย 1,000 บาทต่อ 1 หน่วยหุ้นกู้แปลงสภาพ มูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 864,788,000 บาท เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น อัตราการแปลงสภาพ 1 หน่วยหุ้นกู้แปลงสภาพสามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ 1,000 หุ้น ราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ 1 บาท ต่อหุ้น
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนดังกล่าว บริษัทจะนำมาลงทุนตามกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจที่มีอนาคตและสร้างรายได้ให้กับบริษัท ผลักดันการเติบโตให้กับบริษัทอย่างแข็งแกร่ง สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ ที่ในช่วงไตรมาส 2-ไตรมาส 3/66 วางกลยุทธ์เข้าซื้อกิจการที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทที่จะก่อให้เกิดรายได้ที่ดีในอนาคต
ขณะที่ปีนี้บริษัทยังคงปรับโครงสร้างบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลการดำเนินงานมีอัตราการเติบโตและทำกำไรได้ในระยะยาว โดยการปรับโครงสร้างสะท้อนผลงานที่ดีขึ้น งบเฉพาะกิจการของบริษัทสามารถพลิกมีกำไรสุทธิ 6 ล้านบาทได้เป็นครั้งแรกในรอบ 24 ไตรมาส แต่งบการเงินรวมยังไม่สามารถปรับให้เกิดกำไรทันที เนื่องจากบริษัทเพิ่งขายกิจการที่ขาดทุนต่อเนื่องและไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามมติคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซีไอจี ดีเวลลอปเม้น จำกัด, บริษัท ซีไอจี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สยามเรลเวย์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท ซีไอจี โอเปอเรชั่น จำกัด ซึ่งหลังจากนี้บริษัทจะประเมินการดำเนินงานในส่วนอื่นๆ เพื่อจัดการงบการเงินรวมให้ดีขึ้นตามลำดับ
ด้วยนโยบายการปรับโครงสร้าง และแผนธุรกิจการลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอนาคต มีอัตรากำไรสุทธิที่สูงกว่าธุรกิจเดิม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการบริหารจัดการงานรับเหมาก่อสร้างพร้อมการสนับสนุนทางการเงิน (EPCM+F) ธุรกิจด้านพลังงาน ธุรกิจสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงธุรกิจต่อยอดจากธุรกิจเดิมของบริษัท เช่น การสร้าง Data Center เนื่องจากบริษัทเป็นผู้นำในระบบการทำ Cooling System ให้กับ Data Center ระดับภูมิภาค ส่งผลให้มีพันธมิตรทางธุรกิจแสดงความสนใจพัฒนาธุรกิจร่วมกันจำนวนมาก คาดว่าจะสามารถสรุปการเจรจาเพื่อเซ็นสัญญาทางธุรกิจได้เร็วๆนี้