THAI เพิ่มฝูงบินลุยตลาดจีน-ญี่ปุ่นดันรายได้ปี 67 พุ่งแตะ 1.6 แสนลบ.ก่อนนับหนึ่งจ่ายหนี้-ฟื้นลงทุน MRO

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 12, 2023 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย (THAI) เดินหน้าเพิ่มเครื่องบิน แอร์บัส เอ350 จำนวน 4 ลำเพื่อเร่งรุกตลาดจีน-ญี่ปุ่น มั่นใจปี 66 รายได้โตเป็น 1.3-1.4 แสนล้านบาท ก่อนเพิ่มขึ้นแตะ 1.5-1.6 ล้านบาทในปี 67 พร้อมกำเงินสดในมือกว่า 4 หมื่นล้านบาทเตรียมจ่ายหนี้ตามแผนฟื้นฟูเริ่มงวดแรกกลางปี 67 ราว 8 พันล้านบาท และเดินหน้ายุบ "ไทยสมายล์" ปีนี้ทยอยโอนเครื่องบิน 20 ลำเข้าสมทบในฝูงบินใหญ่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้เครื่องบิน ส่งข่าวดีขึ้นเงินเดือน 5%ให้พนักงานบริษัทสิ้นเดือน พ.ค.นี้ตอบแทนหยาดเหงื่อช่วยบริษัทพลิกทำกำไรในไตรมาส 1/66 พร้อมเดินหน้าโครงการ MRO

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI เปิดเผยว่า บริษัทได้เช่าเครื่องบินแอร์บัส เอ350 จำนวน 11 ลำ ซึ่งจะทยอยรับมอบในช่วงปี 66-67 โดยในปีนี้จะรับมอบเครื่องบิน 4 ลำ โดย 1 ลำจะเข้ามาในเดือน พ.ค. จากนั้นในเดือน มิ.ย.จะรับอีก 1 ลำ ซึ่งจะเริ่มนำเข้าสมทบในเข้าฝูงบินเดือน ก.ค. ส่วนอีก 2 ลำจะรับมอบในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.66

บริษัทจะนำเครื่องบินใหม่ที่รับมอบเข้ามาเพื่อรองรับตลาดจีนและญี่ปุ่นเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเมืองสำคัญ ได้แก่ กวางเจา เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ที่จะปรับเป็นบินทุกวัน เริ่ม 1 ก.ค. นี้ ส่วนโตเกียว (นาริตะ) เพิ่มเป็น 21 เที่ยว/สัปดาห์ จาก 14 เที่ยวบิน/ สัปดาห์ และโอซาก้า เพิ่มเป็น 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จากเดิม 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ รวมถึงเตรียมเพิ่มเที่ยวบินในยุโรปในไตรมาส 4/66 รับไฮซีซั่นด้วย

ส่วนปี 67 จะรับมอบอีก 7 ลำรองรับตลาดเอเชียเหนือและยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักและทำรายได้ได้ดี โดยต้นปี 67 คาดจะกลับมาบินไปยังเมืองออสโลว์และมิลาน

ปัจจุบัน บริษัทมีเครื่องบิน 45 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องลำตัวกว้าง และ ไทยสมายล์ 20 ลำเป็นเครื่องบิน เอ320 เป็นเครื่องบินลำตัวแคบ รวมเป็น 65 ลำ

ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้จากตลาดยุโรป 38% เอเชียเหนือ 33% ออสเตรเลีย 10% เอเชียใต้ 12% และสิงคโปร์ จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ 7% โดยคาดว่าตลาดเอเชียเหนือจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ THAI กล่าวเสริมว่าในปีนี้ จะเน้นการเพิ่มความถี่ในเมืองที่ทำรายได้ดี ทั้งในยุโรป จีน และญี่ปุ่น จากนั้นต้นปี 67 จะกลับมาบินไปยังออสโลว์และมิลานที่เคยทำรายได้ให้การบินไทย โดยในช่วง 66-67 จะไม่เปิดทำการบินจุดบินใหม่ แต่รอให้ออกจากแผนฟื้นฟูก่อนจะมีการปรับกลยุทธ์ เปิดเส้นทางบินใหม่ และการเพิ่มจำนวนเครื่องบินขึ้นอีก

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าวต่อว่า ผลประกอบการในไตรมาส 1/66 มีกำไรสุทธิ 1.25 หมื่นล้านบาท พลิกจากขาดทุน 3,246 ล้านบาท ดีกว่าแผนอย่างมาก บริษัทเชื่อว่าผลประกอบการที่ดีขึ้นจะช่วยสร้างมูลค่าหุ้น THAI และมีผลดีในการนำเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน และการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ และจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นดีขึ้น โดย ณ สื้นไตรมาส 1/66 ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 58,503 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาส 1/65 ที่ติดลบ 74,486 ล้านบาท

โดยหากเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุนทั้งหมดจะเป็นผู้ถือห้นสัดส่วนประมาณ 30% ส่วนกระทรวงการคลังแปลงหนี้เป็นทุนทั้งหมด จะถือหุ้นไม่เกิน 44% ที่เหลือจากนักลงทุนรายย่อย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คาดว่า ปี 66 บริษัทจะมีรายได้ 1.3-1.4 แสนล้านบาท ภายใต้คาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร 9 ล้านคน Cabin Factor 77-78% และในปี 67 เพิ่มเป็น 1.5-1.6 แสนล้านบาท จำนวนผู้โดยสาร 12 ล้านคน Cabin Factor ราว 80% รวมทั้ง มั่นใจว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ภายในปี 67

นายชาย กล่าวว่า แนวโน้มไตรมาส 2/66 เป็นช่วงโลว์ซีซั่น คาดว่า Cabin Factor จะอยู่ที่ราว 77% ลดลงจากไฮซีซั่นในไตรมาสแรกที่ 83.5% ส่วนในไตรมาส 3/66 ก็ยังเป็นโลว์ซีซั่น ก่อนจะกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 4/66 เข้าช่วงไฮซีซั่นอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในยุโรปยังเห็นสัญญาณจองตั๋วล่วงหน้าเข้ามาบ้างแล้ว ส่วนจีนรอความชัดเจนหลังเปิดประเทศ เชื่อว่าในไตรมาส 2/66 น่าจะเต็มทุกสายการบิน โดยตลาดจีนขณะนี้ capacity กลับมาเพียง 10-15% ของปี 62

นายชาย ยังกล่าวว่า บริษัทได้ปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเฉลี่ย 5% ในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ เพื่อตอบแทนพนักงานที่ทำงานหนักช่วยให้บริษัททำกำไรได้มาก ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเงินเดือนในรอบ 10 ปี

"ขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเพราะพนักงานเหนื่อยมามากที่ทำให้การบินไทยกลับมาดีขึ้น ก็เป็นการเรียกขวัญและกำลังใจ"

*ยุบไทยสมายล์โอนเครื่อง 20 ลำปีนี้

นายชาย กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับโครงสร้างบริษัทโดยยุบรวมไทยสมายล์ภายในปีนี้ ซึ่งบริษัทเตรียมเสนอคณะกรรมการเจ้าหนี้ในสัปดาห์หน้า หากให้ความเห็นชอบ ก็จะทำการโอนเครื่องบิน เอ 320 ทั้ง 20 ลำกลับเข้าฝูงบินการบินไทยภายในปีนี้ โดยยกเลิกสัญญาเช่าช่วง ซึ่งมีขั้นตอนขออนุญาตกับกระทรวงคมนาคม และจะไม่มีรหัสทำการบิน WE ของไทยสมายล์ อีกต่อไป

การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะสามารถปิดขาดทุนที่ไทยสมายล์ โดยจะสามารถเพิ่มการใช้งานเครื่องบินได้มากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายด้วย

"การปรับโครงสร้างช่วยเรื่อง Economy of Scale เป็นส่วนสำคัญ ทำให้มีอำนาจต่อรองการจัดซื้อได้มากขึ้น ส่วนการให้บริการของไทยสมายล์ก็ยังเหมือนเดิม เขาก็ยังมีแฟนคลับ "นายชายกล่าว

*เตรียมจ่ายหนี้งวดแรก

ในไตรมาส 1/66 การบินไทยมีเงินสดในมือ 4.2 หมื่นล้านบาท นายชาย กล่าวว่า บริษัทเตรียมพร้อมสำหรับการนำไปชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูที่มีมูลหนี้รวม 1.4 แสนบ้านบาท (เจ้าหนี้ 6 กลุ่ม) โดยจะเริ่มจ่ายงวดแรกให้เจ้าหนี้การค้า 8 พันล้านบาทและจะสิ้นสุดการชำระหนี้ในปี 77 ที่เป็นหนี้หุ้นกู้งวดสุดท้าย ขณะที่หนี้บัตรโดยสาร (Refund) ที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาทได้ชำระไปแล้ว 80-90% และคาดจะชำระหมดภายในไตรมาส 4/66

ขณะที่ บริษัทยังเหลือทรัพย์สินที่รอการขาย ได้แก่ เครื่องบิน 12 ลำ เป็นโบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ และ แอร์บัส เอ380 จำนวน 6 ลำ ส่วนโบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำเพิ่งขายได้อยู่ระหว่างทำสัญญา และยังมีอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สำนักงานที่เชียงใหม่และพิษณุโลก ส่วนในต่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานและบ้านพักในอังกฤษ สำนักงานในปีนังและฮ่องกง

"เรายังขายสินทรัพย์ตามแผน เพราะเราอยู่ธีม Transformation โมเดลธุรกิจเปลี่ยนไป เราไม่จำเป็นต้องกลับมามีทรัพย์สินที่มีต้นทุนดูแล ซ่อมแซม"นายชาย กล่าว

*กลับมาเดินหน้าลงทุน MRO ในEEC

นายวิโรจน์ ปิยะวิโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์ THAI กล่าวว่า บริษัทยังเดินหน้าโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ตามที่ได้รับสิทธิในการดำเนินการจากมติคณะรัฐมนตรี โดยล่าสุดได้เข้าหารือกับเลขา สกพอ. เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการ บนพื้นที่ 200 ไร่ในเขต EEC พร้อมไปกับการศึกษาโครงการที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 66 ซึ่งบริษัทมีความพร้อมในการลงทุนด้วยตัวเอง

ก่อนหน้านี้ การบินไทยมีแผนจะร่วมทุนกับแอร์บัสในโครงการ MRO แต่เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 จนบริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ก็ทำให้แผนงานดังกล่าวต้องยุติไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ