นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย (KTAM) มองโอกาสการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น จากอานิสงส์การปรับขึ้นดอกเบี้ยกำลังเข้าใกล้ระดับสูงสุด ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อภาวะการลงทุนในตราสารหนี้ โดยมีสัญญาณที่เงินเฟ้อไทยกำลังปรับลดลงสู่กรอบนโยบาย และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณถดถอย/ชะลอตัวมาก จึงได้แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ โดยแนะนำกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ระยะสั้น พลัส (KTPLUS)
ในปี 2565 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยต่างเผชิญภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นมากจากหลายปัจจัย กดดันให้ธนาคารประเทศต่างๆ นำโดยสหรัฐฯ และยุโรป เร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างมากและต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ต้องเริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้นตามตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จากระดับต่ำสุดที่ 0.50% ต่อปี เพิ่มขึ้นมาถึง 1.75% ต่อปี และมุมมองตลาดตราสารหนี้ระยะถัดไป คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจจะปรับเพิ่มสูงสุดที่ 2.00% ต่อปี เพื่อสอดรับกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อไทยที่กำลังลดลง (Dis-inflation) เข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่สัญญาณจะเข้าสู่ภาวะถดถอยและชะลอตัวลงมาก จะเป็นปัจจัยให้วงจรดอกเบี้ยถึงระดับสูงสุดในอนาคตอันใกล้และมีโอกาสปรับสู่ขาลงในระยะถัดไป ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความสัมพันธ์กับดอกเบี้ยโดยตรง
สำหรับกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ระยะสั้น พลัส (KTPLUS) (ความเสี่ยงกองทุนระดับ 4) มีนโยบายกระจายลงทุนในพันธบัตรภาครัฐ ตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้เฉลี่ยอายุตราสารไม่เกิน 1 ปี และเงินฝากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกองทุนอาจพิจารณาลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้ กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) จากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
กองทุน KTSTPLUS เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความยืดหยุ่นในการปรับพอร์ตการลงทุน และสามารถปรับให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ค่อนข้างเร็ว โดยมีอายุเฉลี่ยตราสารของกองทุนค่อนข้างต่ำเพื่อเตรียมพร้อมรับการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และเมื่อรอบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นสุดลง กองทุนก็จะสามารถปรับไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ยาวขึ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทนกองทุนได้ ทั้งนี้ ได้เปิดให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน 4 ชนิด ได้แก่ 1) ชนิดสะสมมูลค่า (KTSTPLUS-A) 2) ชนิดผู้ลงทุนกลุ่ม/บุคคล (KTSTPLUS-P) 3) ชนิดผู้ลงทุนสถาบัน (KTSTPLUS-I) และ 4) ชนิดเพื่อการออม (KTSTPLUS-SSF) โดยสามารถซื้อได้ในทุกช่องทางรวมถึงผู้สนับสนุนการขายทุกราย
นางชวินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่เป็นตัวช่วยสนับสนุนให้กองทุน KTSTPLUS มีโอกาสเติบโต มาจากการที่กองทุนมีความเสี่ยงจากความผันผวนของผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ โดยมีการควบคุมอายุเฉลี่ยเงินลงทุนไว้ไม่เกิน 1 ปี เมื่อวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จะถึงระดับสูงสุด ทำให้ความผันผวนของผลตอบแทนจะไม่สูงเหมือนปีก่อนหน้าที่อยู่ในช่วงการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ประกอบกับกองทุนมีการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต ทำให้มีความเสี่ยงด้านเครดิตค่อนข้างต่ำ รวมถึงข้อได้เปรียบจากขนาด จึงทำให้มีโอกาสเข้าถึงตราสารหนี้ในตลาดแรกทั้งในและต่างประเทศในระดับอัตราผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับภาวะตลาด นอกจากนี้ กองทุนมุ่งเน้นรักษาความยืดหยุ่นในการปรับพอร์ต กระจายลงทุน และมีบริหารสภาพคล่องให้เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากสงครามระหว่างประเทศ และความผันผวนของราคาน้ำมันอาจส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อผิดไปจากการคาดการณ์ รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อของไทยหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเต็มที่ อาจจะทำให้กนง.ตัดสินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ได้