นพ.เสถียร ภู่ประเสริฐ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.โรงพยาบาลพระรามเก้า (PR9) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดแนวโน้มธุรกิจไตรมาส 2/66 เติบโตดี แม้ว่าไตรมาส 2 ของทุกปี ปกติจะเป็นช่วง Low season แต่ในปีนี้ได้รับอานิสงส์หลังช่วงสงกรานต์ที่มี Covid สายพันธุ์ใหม่ รวมถึงปริมาณผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากกลุ่มผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) สะท้อนถึงศักยภาพและความน่าเชื่อถือของโรงพยาบาลในการรองรับการรักษาโรคซับซ้อนได้ดี ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังคงมีความจำเป็นและความต้องการรักษาพยาบาลที่มีความซับซ้อนสูง
ขณะเดียวกันบริษัทฯ คาดว่าเริ่มเห็นผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนจีน เนื่องจากโรงพยาบาลตั้งอยู่ในย่านที่คนจีนพักอาศัย โดยคนจีนเดินทางมารักษาในส่วนของการตรวจสุขภาพ, เสริมความงาม และผู้มีบุตรยาก (IVF) ประกอบกับผู้ป่วยในแผนกเฉพาะทางต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดบริษัทเปิดศูนย์บริการต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ อาทิ บริการใหม่ "9care" เพื่อยกระดับการดูแลโรคยากซับซ้อน อาทิ โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ ผ่านอุปกรณ์ทางการแพทย์และ Smart watch เช่น การวัดค่าน้ำตาล,ความดันโลหิต,การเต้นของหัวใจ ฯลฯ เชื่อมต่อกับระบบ Telemedicine ที่สามารถปรึกษาแพทย์ได้จากทุกที่ทั่วโลก และศูนย์นิทรารมย์ (Sleep center) ได้รับกระแสตอบรับที่ดี สามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มและเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยคาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ บริษัทฯ มองว่าช่วงปลายไตรมาส 2/66 เป็นต้นไป จะเริ่มส่งต่อผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา กัมพูชา และลาว โดยจะร่วมมือกันส่งต่อเคสมารักษาที่ PR9 เพื่อเข้ามารักษาโรคซับซ้อน อาทิ โรคไต, หัวใจ , มะเร็ง, เบาหวาน ไทรอยด์ เป็นต้น ด้วยความเชื่อมั่นด้านคุณภาพการรักษา จากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญและเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยของ PR9 ซึ่งเป็นปัจจัยบวกสร้างการเติบโตของบริษัทในปีนี้ โดยสัดส่วนคนไข้ต่างชาติอยู่ที่ 13% และสัดส่วนคนไข้ในประเทศอยู่ที่ 87%
สำหรับแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ บริษัทเดินหน้าสร้างการเติบโต เพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ ผ่านกลยุทธ์จากการมุ่งเน้นการขยายตลาดต่างประเทศ อาทิ กัมพูชา พม่า ลาว มากขึ้น และเปิดตลาดใหม่ตะวันออกกลาง พร้อมทั้งบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมรีโนเวทแผนก "International Center" อาคาร A ชั้น 1 เพื่อเพิ่มความทันสมัยและศักยภาพพื้นที่ให้บริการสำหรับรองรับผู้ป่วยต่างชาติที่มีแนวโน้มขยายตัวในปีนี้
ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างการออกแบบอาคารหอพักบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล มูลค่า 250 ล้านบาท หลังจากบริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญด้านบุคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นสวัสดิการด้านที่พักอาศัยและสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงเข้าเป็นบุคลากรของโรงพยาบาลมากขึ้น เพื่อลดการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อีกทางหนึ่ง โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 66
ทั้งนี้ บริษัทเชื่อมั่นว่าแผนการดำเนินงานปี 66 รายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าเติบโต 12% จากปี 65 หรืออยู่ที่ระดับ 4.6 พันล้านบาท
ด้านผลประกอบการไตรมาส 1/66 บริษัทมีรายได้รวม 967.9 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 979.1 ล้านบาท ลดลงจำนวน 11.2 ล้านบาท หรือ 1.2% และมีกำไรสุทธิ 108.8 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 157.1 ล้านบาท จำนวน 48.3 ล้านบาท หรือ 30.7% โดยรายได้ทรงตัว เนื่องจากผู้ป่วยทั่วไปฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ไม่มีรายได้เกี่ยวกับโควิด-19 เข้ามาเสริม เมื่อเทียบไตรมาส 1/65 ที่มีการระบาดของโอมิคอนและการฉีดวัคชีนโมเดอร์นาทำให้มีอัตราทำกำไรที่สูงกว่าปกติ แต่ได้รับผลบวกจากการขยายตัวของ OPD และ IPD ทั้งในส่วนของผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยแผนกเฉพาะทาง รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน