บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์(KCE)ตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่เพื่อรองรับแผนรุกขยายตลาดในประเทศ รองรับความต้องการของลูกค้ากลุ่มยานยนต์ รวมทั้งกลุ่ม consumer product ประเภทคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม จากเดิมที่มีสัดส่วนรายได้ในประเทศเพียง 5% ของรายได้รวม ส่วนใหญ่ราว 95% มาจากการส่งออก ตั้งเป้าปีนี้รายได้โต 25% และเตรียมปรับราคาสินค้าในช่วงไตรมาส 3/51 ตามภาวะต้นทุนทองแดง
แหล่งข่าวจาก KCE เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัท เคซีอี(ประเทศไทย)จำกัด จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อดำเนินการทางด้านการตลาดและการขายภายในประเทศ ที่มีโอกาสการเติบโตสูงจากความต้องการในประเทศมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น ดังนั้น แทนที่ผู้ซื้อจะสั่ง Import จากต่างประเทศ ก็สั่งซื้อจากในประเทศสะดวกกว่า ราคาและคุณภาพก็สามารถแข่งขันได้ ขณะที่ตลาดค่อนข้างกว้าง
"เราจะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นการส่งออกทางอ้อมของบริษัทเหมือนกัน นั่นคือเหตุผลที่เราร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น ขณะที่โอกาสทางตลาดมีสูงมาก เพราะตัว PCB อยู่ในอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด อีกอย่างในประเทศไทยมีผู้ทำ PCB ค่อนข้างน้อย เพราะโอกาสเติบโตมีสูงมาก"แหล่งข่าว กล่าว
ปัจจุบัน KCE ส่งออกในสัดส่วน 95% ของรายได้รวม โดยเป็นลูกค้ายุโรป 50% สหรัฐ 20% และที่เหลือเป็นแถบเอเชีย ขณะที่ลูกค้าในประเทศกว่า 70% เป็นกลุ่มยานยนต์ และอีก 30% เป็นกลุ่ม consumer product ระดับไฮเอนด์ แต่ต่อไปมีแผนจะขยายฐานลูกค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น
บริษัทย่อยแห่งใหม่ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 3.6 ล้านบาท โดย KCE ร่วมลงทุนกับ IHARA Electronic Industries Co., Ltd. ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทตัวแทนขายในประเทศญี่ปุ่น ในสัดส่วนเงินลงทุนร้อยละ 60 และร้อยละ 40 ตามลำดับ
*คาดปี 51 รายได้โต 25% มีแผนลงทุน 700 ลบ.ปรับปรุง-เพิ่มการผลิต
แหล่งข่าว เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตประมาณ 25% จาก 8,584.46 ล้านบาทในปี 50 และเชื่อว่ากำไรสุทธิก็น่าจะดีขึ้นจากปีก่อนเช่นกัน ส่วนหนึ่งมาจากกำลังการผลิตสม่ำเสมอเต็มที่ทั้งปี การขยายกำลังการผลิต ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นหลังจากได้ปรับขนาดสินค้าลดลงทำให้ขายได้มากขึ้น
"เราจะไม่กลับไปขาดทุนแล้ว และปีนี้ก็คงจะดีกว่าปีที่แล้ว"แหล่งข่าว กล่าว
ปี 50 KCE มีกำไรสุทธิ 257.43 ล้านบาท พลิกสถานการณ์จากที่ขาดทุน 116.35 ล้านบาทในปี 49
แหล่งข่าว กล่าวว่า บริษัทมีแผนใช้เงินทุนราว 700 ล้านบาทขยายและปรับปรุงการผลิต เพิ่มเป็น 2.05 ล้านตารางฟุต/เดือน จากปัจจุบันกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 1.9 ล้านตารางฟุต/เดือน
ทั้งนี้ จะมีการขยายกำลังผลิตแผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้า(PCB)ของโรงงานที่จ.พระนครศรีอยุธยา อีก 1.5 แสนตารางฟุต/เดือน จากปัจจุบันผลิตที่ 9 แสนตารางฟุต/เดือน ใช้เงินลงทุน 350 ล้านบาท เพื่อให้มีกำลังผลิตเพิ่มเป็น 1.5 ล้านตารางฟุต/เดือน คาดว่าจะดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
พร้อมกันนั้น จะมีการปรับปรุงคุณภาพการผลิตสินค้าของโรงงานที่ลาดกระบัง ซึ่งผลิตแผงวงจรด้านใน กำลังผลิต 5.5 แสนตารางฟุต/เดือน, โรงงานที่บางปู ปัจจุบันผลิตได้ 4.5 แสนตารางฟุต/เดือน
แหล่งข่าว กล่าวว่า 70-80% ของแหล่งเงินทุนจะมาจาก Financing และที่เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยขณะนี้บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)อยู่ที่ 2.6 เท่า ลดลงจาก 2.9 เท่าช่วงสิ้นปี 50 และคาดว่าสิ้นปีนี้ D/E จะลดลงอีก เนื่องจากหนี้ระยะยาวลดลงเรื่อยๆ อีกทั้งบริษัทเริ่มกลับมามีกำไรก็สามารถนำมาลดภาระหนี้สินได้
*เล็งปรับราคาสินค้าช่วง Q3/51 รอดูสถานการณ์ราคาทองแดงตลาดโลก
แหล่งข่าว กล่าวว่า บริษัทอาจพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้าในช่วงไตรมาส 3/51 หากราคาทองแดงในตลาดโลกยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ราคาทองแดงซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตแผ่นวงจรไฟฟ้า มาอยู่ที่ 8,600 เหรียญ/ตัน จาก 7 พันเหรียญ/ตันเมื่อปลายปี 50 ถือว่าสูงเป็นประวัติการร์
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทยังไม่เดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าวมากนัก เนื่องจากมีการทำ Hedging ไว้และรองรับได้อีกประมาณครึ่งปี แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาทำ Hedging เพิ่มอีก
"ถ้าสถานการณ์ราคาทองแดงยังปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่หยุด ก็คงจะต้องหันมาคุยกับลูกค้าเพราะเรื่องของ Commodity เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เราจะดูครึ่งปีหลังก่อนว่าแนวโน้มราคาทองแดงเป็นอย่างไร ก็คงจะพิจารณาอีกทีราวไตรมาส 3"แหล่งข่าว กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--