กรมเชื้อเพลิง จับมือจุฬาฯ จัดเวทีเฮียริ่ง กม.ปิโตรเลียมเพื่อความมั่งคงด้านพลังงาน 18 พ.ค.และ 22 พ.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 18, 2023 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมเพื่อความมั่งคงด้านการจัดหาพลังงาน โดยจะจัดขึ้น 2 ครั้ง ในวันที่ 18 พ.ค.66 ณ อาคารศศปาฐศาลา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ และวันที่ 22 พ.ค.66 ณ ห้องประชุมรับขวัญ ชั้น 3 โรงแรมบายาสิตา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ผู้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คณะกรรมการปิโตรเลียม กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ กรมประมง กรมที่ดิน กรมสรรพากร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อุตสาหกรรมจังหวัด ประชาชนที่อาศัยหรือประกอบอาชีพในบริเวณใกล้เคียงกับการประกอบกิจการปิโตรเลียม องค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization) นักวิชาการ นักวิจัย และ ประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ มาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2560) บัญญัติว่าก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญข้างต้นนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การวิเคราะห์ผลกระทบและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่บัญญัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2514) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ("พระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ") ยังมิได้ถูกประเมินผลสัมฤทธิ์ ดังนั้น เพื่อตรวจสอบว่าพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ นั้นหมดความจำเป็น ล้าสมัย หรือไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม สภาพการประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในและนอกชายฝั่ง มาตรการในกฎหมายปัจจุบันบรรลุวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายหรือไม่ เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชน หรือมีผลกระทบอื่นอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือไม่

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงมอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศูนย์บริการฯ) ทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ และกฎหมายลำดับรองที่มีผลสำคัญต่อความมั่งคงด้านการจัดหาพลังงานอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ กฎกระทรวง กำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 กฎกระทรวง กำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. 2561 กฎกระทรวง กำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 และ ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

การประเมินข้างต้นจะช่วยให้เห็นว่าพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ และกฎหมายลำดับรองข้างต้น หมดความจำเป็น ล้าสมัย หรือไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม พลวัตรและความท้าทายในการประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือสภาพของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนการประกอบกิจการอื่นที่เกี่ยวกับใช้ประโยชน์จากแหล่งกำเนิดปิโตรเลียมเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือมาตรการในกฎหมายปัจจุบันไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมาย หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชน หรือมีผลกระทบอื่นอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือไม่

หากปรากฏว่ากฎหมายนั้นหมดความจำเป็น ล้าสมัย หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและศูนย์บริการฯ จะได้มีการดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ และกฎหมายลำดับรอง หรือกระบวนการบังคับใช้ตามกฎหมายดังกล่าวต่อไป

ดังนั้น โครงการนี้จึงมีทั้งขั้นตอนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย และการยกร่างกฎหมาย (ซึ่งจะดำเนินการหลังจากที่ได้ดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์เสร็จสิ้นแล้ว) ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นจากท่านผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นขั้นตอนที่สำคัญประการหนึ่งในกระบวนการตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ซึ่งจะให้ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายสะท้อนถึงปัญหาหรือความท้าทายที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ