นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ปรับลดเป้าหมายปริมาณการจำหน่ายถ่านหินปีนี้ลดลงเหลือ 38.2 ล้านตัน จากเดิมคาดทำได้ราว 42 ล้านตัน แบ่งเป็น ยอดขายในประเทศอินโดนีเซีย 22.4 ล้านตัน, ออสเตรเลีย 8.7 ล้านตัน และจีน 7.1 ล้านตัน โดยได้มีการ fixed volume ไปแล้ว 80% รวมถึงกำหนดราคาขายไปแล้ว 37% ส่วนที่เหลืออีก 40% จะอ้างอิงกับดัชนีราคาฯ
ทั้งนี้ในไตรมาส 1/66 บริษัทฯ มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 9.2 ล้านตัน ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2/66 และช่วงครึ่งปีหลัง จะมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตและการลดต้นทุนเป็นหลัก รวมถึงสร้างการเติบโตด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน
ขณะที่มองแนวโน้มราคาตลาดถ่านหินปีนี้คาดปรับตัวลง จากสภาพอากาศในฤดูหนาวอุ่นกว่าคาด ทำให้ระดับสต็อกถ่านหินของผู้ผลิตไฟฟ้าได้สำรองไว้ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ด้านซัพพลาย หลายประเทศกลับมาผลิตได้ตามปกติ สวนทางกับดีมานด์ที่ทรงตัว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ทำให้มีลูกค้าบางประเทศชะลอการซื้อออกไป
อย่างไรก็ตามคาดราคาตลาดถ่านหินปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 150-180 เหรียญ/ตัน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ดี ยังสามารถสร้างมาร์จิ้นที่ดีได้
สำหรับธุรกิจผลิตพลังงาน ภายใต้การดำเนินงานของบมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) คาดว่าจะสามารถปิดดีลลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐได้เร็วๆ นี้ และปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการทำ Due Diligence ในการขยายธุรกิจไฟฟ้า และ Value chain ที่เกี่ยวข้อง ในรัฐเท็กซัส เช่น การทำธุรกิจเทรดดิ้ง ธุรกิจรีเทลขายไฟฟ้าให้กับ ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เชื่อว่าจะมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างกระแสเงินสดได้
ปัจจุบัน BPP มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 4,210 เมกะวัตต์เทียบเท่า ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (Thermal Power Business) ขนาด 3,253 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ขนาด 957 เมกะวัตต์
ส่วนธุรกิจ Energy technology ภายใต้บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (Banpu NEXT) ในส่วนของโซลาร์รูฟและโซลาร์ลอยน้ำ มีกำลังการผลิตที่ 217 เมกะวัตต์ โดยยังคงเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 500 เมกะวัตต์ในปี 68 จากการขยายไปในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติม
นอกจากนี้การลงทุนในบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (Durapower) ซึ่งเดิมจัดประเภทเป็นบริษัทร่วมทุน โดย BPINI ถือหุ้นในสัดส่วน 47.68% ภายหลังการเพิ่มทุนทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเป็นสัดส่วน 65.10% และเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทย่อย มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตที่จีน และจะขยายโรงงานที่ไทย โดยจะพยายามเพิ่มซัพพลาย เพื่อรองรับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3GW ในปี 68 และคาดว่าในระยะยาวจะเป็น 7GW ขึ้นอยู่กับดีมานด์ในตลาด เพื่อรองรับลูกค้าอย่างครบวงจร
ด้าน New JV ได้มีการร่วมมือกับ เชิดชัยมอเตอร์เซลส์ ผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย สร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในไทย คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/67 ซึ่งจะช่วยรองรับแบตเตอรี่ใน รถบัสไฟฟ้า (E-Bus) เรือไฟฟ้า มอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า และรถโดยสารส่วนบุคคล
การลงทุนในโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มขนาดใหญ่อิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) เดินหน้าในเรื่องของ Battery farm มีกำลังการกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารวม 58 เมกะวัตต์ชั่วโมง โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น เชื่อว่าจะสามารถสนับสนุนการเติบโตได้
ขณะที่ Energy trading ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากปัจจุบันได้เดินหน้าในส่วนของประเทศญี่ปุ่น และจะการขายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ส่วน BKV Corporation (BKV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวเยอร์ก ตามกลยุทธ์ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายในการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันมีความพร้อมทุกด้าน โดยอยู่ระหว่างรอภาพรวมตลาดปรับตัวดีขึ้น