นางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด เปิดเผยว่า ทรูมันนี่ (truemoney) ได้พลิกโฉมการใช้จ่ายของผู้คนให้เป็นมากกว่าแอปสำหรับจ่ายหรือโอน แต่เป็นแอปที่สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกคนในทุกวัน โดยมีฐานผู้ใช้งานในปัจจุบันกว่า 27 ล้านคน และเป็นแอปทางการเงินที่เป็นที่รู้จักสูงสุดอันดับหนึ่ง โดยมีส่วนแบ่งตลาด (Market share) เมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) ราว 90% พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มฐานลูกค้าที่ใช้บริการทรูมันนี่เพิ่มเป็น 35 ล้านคน ภายในสิ้นปี 66
"วันนี้เราพร้อมยกระดับภารกิจของเราขึ้นไปอีกขั้น ด้วยจุดยืนในการเป็นซูเปอร์แอปทางการเงินเพียงหนึ่งเดียวที่ให้บริการครบที่สุด บนแนวคิด Effortless Money Management Service เพื่อช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงทุกบริการการเงินที่ง่าย และได้รับประโยชน์คุ้มค่าทุกครั้งที่ใช้ ตอบโจทย์ความต้องการของคนทุกกลุ่ม" นางสาวมนสินี กล่าว
ปัจจุบันทรูมันนี่ มีการนำเสนอบริการใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. บริการในกลุ่มใช้จ่าย ทั้งการจ่ายออนไลน์ ออฟไลน์ โอนเงิน ใช้จ่ายต่างประเทศ และวงเงินใช้ก่อนจ่ายทีหลัง 2. บริการในกลุ่มการเงิน ที่เป็นบริการด้านการออม ลงทุน ประกัน และสิทธิประโยชน์หลากหลาย และ 3. บริการสนับสนุนธุรกิจ ที่ช่วยเพิ่มพลังธุรกิจให้ไปได้ไกลกว่า ทั้งบริการสนับสนุนเอเอ็มอี และผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ระบบสมาชิก และฟีเจอร์โปรโมทร้านค้า เป็นต้น
พร้อมกับการสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยทางการเงิน ในการเดินหน้ายกระดับเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ TrueMoney Secure ไม่ว่าจะเป็นระบบตรวจจับและแจ้งเตือนพฤติกรรมต้องสงสัยแบบเรียลไทม์ ฟีเจอร์ยืนยันตัวตนและเข้ารหัสหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการสแกนใบหน้าเพื่ออนุมัติรายการตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป และสายด่วนแจ้งภัยการเงินตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตอกย้ำความเป็นซุปเปอร์แอปทางการเงิน
ขณะเดียวกันทรูมันนี่ยังมีความสนใจในการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอดูกฎเกณฑ์การจัดตั้ง Virtual Bank ของธปท.ให้ออกมาอย่างชัดเจนก่อน แต่ทรูมันนี่ยอมรับว่ามีความพร้อมในด้านคุณสมบัติตามที่ธปท.กำหนดอย่างครบถ้วน ซึ่งทรูมันนี่ได้มองว่าการขอใบอนุญาต Virtual Bank จะช่วยต่อยอดการบริการทางการเงินได้กว้างขึ้น โดยเฉพาะบริการด้านการรับฝากเงิน ซึ่งเป็นบริการที่ทรูมันนี่ให้บริการได้เอง แต่ปัจจุบันเป็นบริการรับฝากเงินเป็นการให้บริการร่วมกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP)
โดยการเปิดบริการรับฝากด้วยตัวเองได้ ผ่านธุรกิจ Virtual Bank จะช่วยให้ทรูมันนี่ลดต้นทุนทางการเงินลง และสามารถทำโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดได้เอง โดยเฉพาะแคมเปญดอกเบี้ยรวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆที่ทรูมันนี่ให้กับลูกค้าได้โดยตรง ประกอบกับการขยายการบริการด้านสินเชื่อไปสู่สินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น และมีวงเงินในการให้สินเชื่อกับลูกค้าที่สูงขึ้น จากปัจจุบันที่บริการ Pay Next ปล่อยสินเชื่อวงเงินในระดับหลักร้อยและหลักพันบาท ซึ่งทำให้ทรูมันนี่สามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น ทำให้ทรูมันนี่มองโอกาสการเข้าไปยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank และคาดหวังเป็น 1 ใน 3 รายแรกที่ได้รับอนุญาต ส่วนจะร่วมพันธมิตรรายอื่นที่เข้าร่วมกับทรูมันนี่หรือไม่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา
"Virtual Bank เป็นโอกาสที่เข้ามาต่อ Mission และ Ecosystem ของทรูมันนี่ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งเรามีความพร้อมในด้านคุณสมบัติที่แบงก์ชาติกำหนด แต่ก็พิจารณาในด้านกฎเกณฑ์ต่างๆในการจัดตั้งที่ยังรอความชัดเจนก่อนในตอนนี้" นางสาวมนสินี กล่าว
ส่วนเป้าหมายของทรูมันนี่ภายในปี 68 ตั้งเป้าที่จะมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการผ่านทรูมันนี่ในทุกๆเดือนคิดเป็น 50% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศไทย และมีสัดส่วนฐานลูกค้าที่ใช้บริการผลิตภัณฑ์ทาอการเงิน (Financial service) ผ่านทรูมันนี่คิดเป็น 20% ของจำนวนลูกค้าที่ใช้ทรูมันนี่ เพื่อเพิ่มสัดส่วนกำไรที่มาจาก Financial service เป็น 50% ของสัดส่วนกำไรทั้งหมด จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนกำไรจาก Financial service ที่ 10% ซึ่งจะทำให้ทรูมันนี่มีผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้น จากปัจจุบันสามารถเริ่มทำกำไรได้แล้ว