นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย ระบุว่า สัปดาห์นี้ประเมิน SET INDEX เคลื่อนไหวในกรอบ 1,515-1,550 จุด ปัจจัยด้านการเมืองสะท้อนในราคาหุ้นไปมากแล้ว ขณะที่สหรัฐมีปัจจัยบวกจากการขยายเพดานหนี้มีทางออก จึงมีมุมมองเชิงบวกกับตลาด
ช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา Reuters ระบุว่าทาง Joe Biden และ Kevin Mccarthy ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการปรับเพิ่มเพดานหนี้เพื่อเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ แม้จะมีบางข้อที่มีปัญหาเล็กน้อย 1-2 เรื่อง แต่ถึงกระนั้นข้อที่ตกลงกันได้ก็มากเพียงพอที่จะทำให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ มองปัจจัยข้างต้นเป็นบวกกับตลาดหุ้น แต่กับตลาดหุ้นสหรัฐฯอาจเป็นบวกเพียงเล็กน้อย เชื่อว่าการปรับขึ้นมาของ Dow Jones ในวันศุกร์ตอบรับไปบ้างแล้ว
ส่วนเงินเฟ้อสหรัฐฯในคืนวันศุกร์ (PCE) ขยายตัว 4.4%YoY และ 0.4%MoM ถือว่าสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ (คาด 4.3%YoY , 0.3%MoM) ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ขยายตัว 4.7%YoY 0.4%MoM สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ที่ 4.6%YoY 0.3%MoM องค์ประกอบภายในพบว่าราคาสินค้าในภาพรวมกลับมาเร่งตัวอีกครั้ง (+2.1%YoY เทียบกับเดือนก่อน +1.6%YoY) โดยเฉพาะราคาสินค้าไม่คงทน (+2.9%YoY จากเดือนก่อน +2.1%YoY)
ภายหลังจากทราบข้อมูลดังกล่าวพบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 , 10 ปี ปรับขึ้นพร้อมกับ CME FED Watch กลับมาให้น้ำหนักมากสุดกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ด้วยความน่าจะเป็น 64% และน้ำหนักคงดอกเบี้ยเหลือ 36% จากก่อนหน้านี้ 72% ปัจจัยข้างต้นถือเป็นลบกับตลาดหุ้นจากความกังวลดอกเบี้ย และประเทศไทยจะเผชิญกับการอ่อนค่าของเงินบาทกดดันการไหลออกของเม็ดเงินต่างชาติแต่จะเป็นบวกกับกลุ่มส่งออก (KCE TU)
ทั้งนี้ ตลาดหุ้น Dow Jones คืนวันศุกร์ปิดบวก 1% ขานรับความคืบหน้าการเจรจาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ด้านราคาน้ำมันดิบ BRT ปิดบวก 1.17% ได้แรงหนุนจากแนวโน้มอุปสงค์ขยายตัวจากเทศกาลท่องเที่ยวขอสหรัฐฯ
สำหรับปัจจัยหลักที่ยังต้องติดตาม ได้แก่ ภาคแรงงานในสหรัฐฯ ทั้งการรายงานตำแหน่งเปิดรับสมัครงานในวันพุธ Bloomberg ประเมินไว้ที่ 9.4 ล้านตำแหน่ง และวันศุกร์ อัตราการว่างงานและการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ Bloomberg ประเมินไว้ที่ 3.5% และ 1.89 แสนราย หากรายงานสูงกว่าที่คาดการณ์จะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้น
ด้านในประเทศติดตามการรายงานการขยายตัวของส่งออกและนำเข้า Bloomberg คาดมูลค่าส่งออกหดตัว 2%YoY และนำเข้าหดตัว 5.5%YoY พร้อมขาดดุลการค้า 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
คำแนะนำเชิงกลยุทธ์ทยอยสะสมหุ้น Domestic อาทิ ค้าปลีก (BJC CPALL) ธนาคาร (BBL KBANK SCB) รถไฟฟ้า (BEM) ศูนย์การค้า (CPN) ท่องเที่ยว (AOT MINT) โรงภาพยนตร์ (MAJOR) ส่งออก (TU)
KBANK (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 160.00 บาท) ยังคงสมมติฐานค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญปี 66 ที่ 210bp และลดลงเป็น 190bp ในปี 67 เพราะคาดว่าการระบายงบดุลจะแล้วเสร็จในปี 66 แม้เราจะมีสมมติฐานด้านค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่รัดกุม แต่คาดว่าการเติบโตของกำไรสุทธิของ KBANK จะกลับมาเป็นบวกที่ 15%/4% YoY ในปี 66-67 (65: -6%)
TU (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 20.80 บาท) คาดว่าสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 2/66 จะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1/66 ได้หลังจากเริ่มเข้าสู่ช่วง High Seasons ของการส่งออกแล้ว นอกจากนี้จากการที่ TU เป็นผู้ประกอบการทูน่าที่เป็นสินค้าที่มีผลกระทบต่ำหากเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นที่ยุโรปและสหรัฐ