กรณีการลงทุนใน STARK ก็มีกระบวนการทำงานในลักษณะเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์นอกเหนือจากความสามารถในการควบคุมของผู้จัดการกองทุน อาทิ การยกเลิกแผนการลงทุน การส่งงบการเงินล่าช้า การให้ความเห็นและข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นต้น ผู้จัดการกองทุนจะปรับสัดส่วนการลงทุนตามจังหวะที่เหมาะสม ในระดับสมาคม บลจ.มีการรวมตัวกันทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น ติดตามการทำงานของบริษัท ได้มีการส่งหนังสือขอเข้าพบประธานกรรมการ หรือผู้บริหารของ STARK ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่ บลจ.ร่วมกันทำในรูปแบบ collective action เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ
"ยอมรับว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง เพราะไม่ใช่บลจ.ในไทยเท่านั้น แต่บริษัทประกัน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินต่างชาติ ต่างก็ลงทุนใน STARK ด้วย ก็ได้ผลกระทบเหมือนๆกัน ภาพในตอนนั้นจากที่เราสกรีนข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์แล้ว ก็เป็นบริษัทที่ลงทุนได้ แต่มีเหตุการณ์ในเรื่องความไม่โปร่งใสและการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ทำให้ทุกคนก็ได้รับผลกระทบ และเราเองก็ต้อง Take Action อย่างเหมาะสม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนทุกราย และรักษาความน่าเชื่อถือให้กับอุตสาหกรรมบลจ. เพราะ Trusted เป็นสิ่งที่สำคัญในอุตสาหกรรมนี้" นางชวินดา กล่าว
อย่างไรก็ตามทาง สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาชิกบลจ.ยังคงติดตามในเรื่องการส่งงบการเงินปี 65 ของ STARK ภายในวันที่ 16 มิ.ย. 66 ได้หรือไม่ หาก STARK ไม่สามารถส่งงบการเงินปี 65 ตามกำหนดได้ ทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุน จะมีการหารือกับทางสมาชิกบลจ.ในแนวทางการดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจากทาง STARK ซึ่งในฐานะของบลจ.นั้นอยู่ฝั่งเดียวกับผู้ลงทุน ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ลงทุนที่ฝากเงินมาไว้ให้ทางบลจ.บริหาร ทำให้บลจ.ถือว่าเป็นผู้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกับนักลงทุนที่เป็นลูกค้าของของบลจ.
นางชวินดา กล่าวถึงแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนของบลจ.และผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้อง หลังจากเกิดผลกระทบจาก STARK ซึ่งล่าสุดได้มีการพูดคุยกับทางตลาดหลักทรัพย์ฯในการพัฒนาเทคโนโลยีในการติดตามข่าวสารและเปิดเผยข้อมูลความเคลื่อนไหวของบริษัทจดทะเบียนให้รวดเร็วมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อเป็นการส่งสัญญาณ แจ้งเตือน รวมถึงแจ้งความเคลื่อนไหวต่างๆของบริษัทจดทะเบียนให้นักลงทุนได้รับทราบอย่างรวดเร็ว และรับทราบอย่างทั่วถึง รวมถึงจะมีการเดินสายพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเครื่องมือและแนวทางไนการตรวจแอบก่อนการลงทุนที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น การมีกฎให้บริษัทจดทะเบียนมีผู้ตรวจสอบบัญชี 2 ราย และการทำเรตติ้ง 2 ราย เป็นต้น
นอกจากนั้นทางบลจ.ยังเน้นในด้านการลงทฺนตามหลัก ESG โดยเน้นด้านธรรมภิบาล หรือ Governance เป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องของคนที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะบริษัทมีการขับเคลื่อนด้วยคน และจากกรณีของ STARK สะท้อนให้เห็นว่าคนเป็นเหตุให้บริษัทเกิดปัญหาขึ้น แม้ว่าธุรกิจของ STARK จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ยังมีการเติบโตขึ้นในอนาคตก็ตาม ซึ่งเรื่องดังกล่าวทาง STARK จะต้องเป็นคนจัดการในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้บริษัทเกิดความเสียหาย แม้ว่าทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุนจะส่งหนังสือไปสอบถามกับทาง STARK แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการตอบกลับมา
ด้านนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ปรึกษาทางการเงิน นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ กล่าวว่า ในการวิเคราะห์และให้คำแนะนำของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ก็เป็นการปฏิบัติงานโดยอาศัยข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะและข้อมูลที่ได้รับจากบริษัทเป็นหลัก แต่ละ บล.ให้ความสำคัญกับมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน กรณีที่เกิดขึ้นกับ STARK เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังกระบวนการวิเคราะห์ต่างๆ ข้างต้น ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการควบคุม