นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานบริหารการเงิน บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กล่าวว่า จากการประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 66 ของทีดีอาร์ไอ พบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเป็นไปในแนวทางเดียวกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ และเชื่อว่าจะส่งผลบวกให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลขยายตัวมากขึ้น
"เราเชื่อว่าด้วยสถานการณ์ของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจบริการอื่นๆ จะทำให้เกิดการบริโภคในครัวเรือนและการลงทุนทำธุรกิจที่มากขึ้น รวมทั้งการเดินทางของนักท่องเที่ยวในไทยและเดินทางไปต่างประเทศ จะเอื้อประโยชน์ให้ทุกพอร์ตสินเชื่อของเคทีซีขยายตัว และมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งธุรกิจร้านค้ารับชำระเติบโต ทั้งจากภาคอุปสงค์ในไทยที่ขยายตัว จากการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทย" นายชุติเดช กล่าว
จากแนวโน้มของเศรษฐกิจในประเทศที่มีการฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการกลับเปิดเมือง และเปิดประเทศ ทำให้คนกลับมาทำงาน และมีรายได้มากขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยมีการฟื้นตัวและมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของ KTC ที่เห็นการเติบโตที่ดีตั้งแต่ไตรมาส 1/66 ที่ผ่านมา และในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมายังเห็นยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของ KTC เติบโตในทิศทางที่ดี จากการที่อยู่ในช่วงเดือนที่เป็นเทศกาลและมีวันหยุดยาว โดยเฉพาะยอดการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ค่อนข้างดี แต่อาจจะมีการชะลอลงบ้างในช่วงเดือนพ.ค. และมิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นปกติของซีซั่นธุรกิจ
โดยในช่วงไตรมาส 1/66 KTC มีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรม เท่ากับ 14.8% อัตราการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 22.5% สูงกว่าอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตที่ 17.7% ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทเท่ากับ 12.2% และมีสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 3.8%
พอร์ตสินเชื่อรวมของ KTC ไตรมาส 1/66 มีอัตราเติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 65 อยู่ที่ 14.5% โดยมีมูลค่าเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมเท่ากับ 1.03 แสนล้านบาท ในขณะที่กลุ่มบริษัทยังคงบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 2.6% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ดีโดยมี NPL รวมอยู่ที่ 1.9% และมั่นใจว่าจะสามารถคงคุณภาพพอร์ตรวมได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมประมาณการกำไรของปี 66 ที่สูงกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะยังเห็นการจับจ่ายใช้สอยยังดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่เป็นช่วงเทศกาล ทำให้มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพื่อจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้บริษัทมองว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 66 มีโอกาสเติบโตเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10% ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่ามีโอกาสเติบโตได้ถึง 15% ในปี 66
ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ปรับสูงขึ้น ทาง KTC ยังคงมีการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดี แม้ว่าต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะต้องปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยต้นทุนการเงินของบริษัทในปี 66 จะขยับขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ 2.7% จากปีก่อนที่ 2.6% ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
โดยที่การออกหุ้นกู้ของบริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาวะดอกเบี้ยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอายุของหุ้นกู้ที่จะออกเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น 2-3 ปี ซึ่งมีการให้อัตราดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องตามภาวะในปัจจุบัน และทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการเงินได้อย่างดี ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 66 บริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดอายุ และไว้รองรับการขยายธุรกิจอีก 4-5 พันล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทให้ความสำคัญและส่งเสริมการช่วยเหลือ ติดตาม แก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหาหนี้สินอย่างตรงจุดและทันท่วงที รวมถึงการพัฒนากระบวนการในการให้สินเชื่อตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการอย่างยั่งยืน โดยเคทีซีให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะเป็นจำนวน 1.99 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2% ของพอร์ตลูกหนี้รวม
นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ โครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจากการประเมินหลายปัจจัยเชื่อมั่นว่าสภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายปัจจัย ทั้งปัญหาของการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป อีกทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ และสงครามยูเครนที่ยังไม่สงบ
โดยเศรษฐกิจไทยในปีนี้ GDP อาจขยายตัวอยู่ที่ 3.5% จากรายรับในภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจเติบโต ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าในปี 66 จะมีนักท่องเที่ยว 29 ล้านคน และ 35.5 ล้านคนในปี 67 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะลดลงจากปีที่แล้ว แม้การส่งออกไทยอาจได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจจีน แต่ยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักที่ถดถอย สำหรับการบริโภคภาคครัวเรือนได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเม.ย. 66 ขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุด นับตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิดในเดือนมี.ค. 66 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้การว่างงานลดลง ก่อให้เกิดการสร้างรายได้จากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมโรงแรมและภัตตาคาร การก่อสร้าง การค้าขายและการผลิต และคาดว่าการจ้างงานจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่สูง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนที่สูงนับตั้งแต่สถานการณ์โควิดถึงเกือบ 90% ของ GDP ในปัจจุบัน อาจเป็นปัจจัยจำกัดการบริโภค นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ อาจส่งผลให้งบประมาณปี 67 ล่าช้า ทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐในปี 66 จะไม่เพิ่มขึ้นจากปี 65 มากนัก
ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การส่งออกไปตลาดจีนและกำลังซื้อในประเทศ อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวน้อยกว่า 2% เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง แต่ยังมีแรงกดดันเงินเฟ้อจากอีกหลายปัจจัย เช่า ต้นทุนของผู้ผลิตที่ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคจากการฟื้นตัวด้านอุปสงค์ ค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แม้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบที่ 2.25-2.5% ในสิ้นปี 66