นายธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) เปิดเผยว่า บริษัทเป็นบริษัทย่อยในกลุ่ม บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เตรียมพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลังจากยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ภายในไตรมาส 3/66
นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ SAV กล่าวว่า SAV จะเสนอขายหุ้นสามัญไม่เกิน 224,000,000 หุ้น หรือไม่เกิน 35% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 64,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10% และ หุ้นสามัญเดิมและจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จำนวนไม่เกิน 30% มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท/หุ้น
บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมถึงเพื่อรองรับโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ
ปัจจุบัน SAV มีทุนจดทะเบียน 320 ล้านบาท เป็นทุนชำระแล้ว 288 ล้านบาท เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่มีธุรกิจหลัก คือ การให้บริการด้านวิทยุการบินอย่างครบวงจรผ่าน บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่ง SAV ถือหุ้นใน CATS 100% โดย CATS เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาระยะเวลารวม 49 ปี (2545-2594) ในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ครอบคลุมเส้นทางบินทั้งหมดของน่านฟ้าประเทศกัมพูชา ซึ่งกัมพูชามีสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติพนมเปญ สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ สนามบินนานาชาติสีหนุ สนามบินพระตะบอง สนามบินเกาะกง และสนามบินสตึงเตรง
นายธีระชัย กล่าวว่า รายได้หลักของ CATS มาจากบริการควบคุมการจราจรทางอากาศ 3 ประเภท ได้แก่ 1.รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงในประเทศ (Landing &Take-off : Domestic) 2.เที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงระหว่างประเทศ (Landing & Take-off: International) 3. รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight)
"ในปี 65 SAV มีรายได้รวม เท่ากับ 1,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวม 724 ล้านบาทในปีก่อนหน้าและ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 199.5 ล้านบาท หลังจากผ่านพ้นวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 มีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั้งในประเทศกัมพูชาและประเทศในภูมิภาคอาเซียนกลับมาเติบโต SAV มีผลการดำเนินงานที่กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง"นายธีระชัย กล่าว
SAV มีจุดเด่นคือ 1.เป็นผู้ให้บริการด้านวิทยุการบินอย่างครบวงจร เพียงรายเดียวในกัมพูชา 2.มีรายได้ประจำทั้งจากทุกเที่ยวบินที่ขึ้น-ลงในประเทศกัมพูชา 3.มีรายได้ประจำจากทุกเที่ยวบินที่บินผ่านน่านฟ้ากัมพูชา โดยเฉพาะเที่ยวบินไปเวียตนามซึ่งเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยยะจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและการท่องเที่ยวอย่างสูง 4.SAV มีระยะเวลาสัมปทานอีก 29 ปีและสามารถต่อระยะเวลาสัมปทานได้อีก 5. ธุรกิจวิทยุการบิน ลงทุนต่ำและให้ผลตอบแทนสูง และไม่มีคู่แข่ง 6. การขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชาและอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตสูง
ขณะที่ SAV มีนโยบายจ่ายเงินปันผลสูงถึง 50% ของกำไรสุทธิ เมื่อบวกกับความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งแล้ว เชื่อว่าจะเป็นหุ้นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาวอย่างแน่นอน
ด้านนายวัฒนชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์องค์กร และพัฒนาธุรกิจใหม่ SAMART เปิดเผยว่า กลุ่ม SAMART ได้ลงทุนในหลายกลุ่มธุรกิจมากกว่า 60 ปี โดยเริ่มลงทุนในธุรกิจด้านการบินที่ประเทศกัมพูชาตั้งแต่ปี 45 และ SAV (กลุ่ม SAMART ถือหุ้น 100% โดย บริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด ถือหุ้น 66.67% และบริษัท สามารถ อินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 33.33%) เป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานด้านบริการวิทยุการบินครบวงจรในประเทศกัมพูชา โดยบริษัทลงทุนในเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ และ ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในการขยายระยะเวลาสัมปทานต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง และสัมปทานล่าสุดครอบคลุมถึงปี 94 ทำให้ธุรกิจของ SAV มีเสถียรภาพอย่างสูง
"เมื่อ SAV เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์จะเป็น การ Unlock Value หรือ ปลดปล่อยศักยภาพและมูลค่าของกลุ่มสามารถ เนื่องจาก SAV เป็นบริษัทฯที่มีศักยภาพสูง อยู่ในอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตสูงและต่อเนื่อง อีกทั้งมีผลการดำเนินงานที่ดี ธุรกิจมีความมั่นคงสูง มีความสามารถในการทำกำไรสูง และเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินในเอเชียมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนและการท่องเที่ยวในอาเซียน"
นายธีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกลุ่ม SAMART มีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินโดยรวมอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นของ SAV ประมาณ 1,000 ล้านบาท และ SAMART ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนดังกล่าวไปใช้คืนหนี้เงินกู้ทั้งหมดของกลุ่ม ส่งผลทำให้กลุ่ม SAMART จะไม่มีหนี้สิน (Debt-Free) ทำให้มีความสามารถในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจได้มากขึ้นในอนาคต
สำหรับการเติบโตของธุรกิจการให้บริการด้านวิทยุการบินอย่างครบวงจรในกัมพูชา CATS เป็นผู้ได้รับสัมปทานทุกสนามบินเพียงรายเดียว และยังสามารถเจรจาขอขยายอายุสัมปทานได้เพิ่มเติมหากมีการลงทุนในระบบและอุปกรณ์ ล่าสุด กัมพูชามีแผนขยายสนามบินใหม่ในเสียมเรียบและพนมเปญ ทำให้มองเป็นโอกาส จึงได้เข้าเจรจาขอขยายอายุสัมปทานอีกรอบ ส่งผลให้โดยรวม ณ ปัจจุบัน CAT มีสัมปทานที่ได้รับรวม 49 ปี ดำเนินการไปแล้ว 21 ปี และยังเหลืออีก 28 ปี หรือจะสิ้นสุดในปี 94
ทั้งนี้ CAT ให้บริการวิทยุการบินในสนามบินนานาชาติของกัมพูชา 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติกรุงพนมเปญ สนามบินนานาชาติเสียมราฐ และสนามบินนานาชาติสีหนุวิลล์ และกำลังจะมีสนามบินที่ 4 ชื่อ สนามบินนานาชาติดาราซากอร์ ส่วนการให้บริการสนามบินภายในประเทศ (domestic) ก็จะมี 3 แห่ง ซึ่งการจราจรทางอากาศในกัมพูชาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ถือว่ามีการเติบโตค่อนข้างสูง ทำให้กัมพูชามีแผนก่อสร้างสนามบินใหม่ เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาค่อนข้างมาก
ส่วนภาพรวมการเติบโตของการจราจรทางอากาศทั่วโลก (Traffic) ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตทางด้านการบินที่สูงมาก และเมื่อเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) พบว่า มีการเติบโตกว่าเท่าตัว ก่อนที่จะปรับตัวลงไปในช่วงปี 63-64 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ในปี 65 ก็เริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมาแล้ว และคาดว่าในปี 67 Traffic จะเติบโตกว่าปี 62
ขณะที่เศรษฐกิจของกัมพูชาในอดีตมีการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักติดต่อกันมาหลายปี สอดคล้องกับสถิติการบินที่มีการเติบโตสูงเช่นเดียวกัน โดยหลังจากผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 มาแล้ว ในปี 65 Traffic ก็เริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมา และคาดว่าในปี 66 Traffic จะมีวอลุ่มกลับไปเหมือนกับปี 62
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลประกอบการของ SAV จากเดิมในปี 61-62 รายได้เติบโตแตะ 2,000 ล้านบาทก่อนจะเจอกับสถานการณืโควิด แต่ในปี 65 รายได้เริ่มฟื้นกลับมาเป็น 1,200 ล้านบาท และคาดว่าในปี 66 จะมีรายได้เติบโต 30-40% และจะกลับไปที่ 2,000 ล้านบาทอีกครั้งในปี 67 รวมถึงตั้งเป้าเติบโตแตะ 3,000 ล้านบาทในอีก 5-7 ปีข้างหน้า เป็นไปตามการขยายตัวของธุรกิจหลัก
นอกจากนี้ยังคาดการณ์อัตรากำไรขั้นต้นปี 66 ก็จะกลับมาที่ระดับ 50% ได้อีกครั้ง เหมือนกับในปี 63