นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ คงมุมมองตลาดหุ้นไทยเป็น slightly positive โดยคาดว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ต้องจับตามองการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงเสถียรภาพทางการเมือง ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุน
หากวิเคราะห์จากเหตุการณ์ปกติที่ควรจะเป็น (Base case scenario) การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย ภายในกลางเดือน ก.ค. 66 และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 67 มีโอกาสล่าช้าแต่อยู่ในระดับที่จัดการได้ โดยคาดว่า SET Index ณ สิ้นปี 66 จะอยู่ที่ประมาณ 1,660 จุด เพิ่มขึ้น 7% จากระดับปัจจุบันที่ 1,550 จุด
ส่วนในกรณีเลวร้าย (worse case scenario) หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จนกระทบต่อการจัดทำและเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 และมีความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายยืดเยื้อ SET index อาจมีความเสี่ยงปรับลดลง 8% จากระดับปัจจุบัน
SCB CIO ประเมินการจัดตั้งรัฐบาลออกมาเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
รูปแบบที่ 1 พรรคก้าวไกล จับมือกับพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคเล็ก มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล
รูปแบบที่ 2 คล้ายรูปแบบแรก แต่เปลี่ยนแคนดิเดตนายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทย
และรูปแบบที่ 3 พรรคเพื่อไทย บวกฝ่ายรัฐบาลเดิมร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ปัจจุบัน 8 พรรคการเมือง นำโดยพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) เพื่อการจัดตั้งรัฐบาล 23 ข้อ กับ 5 แนวทางปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายรัฐบาลต่อไป
SCB CIO ได้ประเมินความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายยังเป็นประเด็นหลักกดดันหุ้นไทย โดยผลกระทบจากนโยบายของพรรคที่เตรียมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ พบว่า เน้นเรื่องการกระจายรายได้เป็นหลัก ขณะที่แรงกระตุ้นที่มาจากภาคการคลังคาดว่าจะมีได้ไม่มากเท่ากับในอดีต เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูง โดยในส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP ปัจจุบันอยู่ที่ 61% ดังนั้น เพื่อไม่ให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เกิน 70% รัฐบาลชุดใหม่จะต้องหาทางเพิ่มรายได้ภาครัฐให้มากขึ้น จากการจัดเก็บรายได้ภาครัฐรูปแบบใหม่ และ การปรับปรุงระบบภาษี ทำให้แรงกระตุ้นจากภาคการคลังสุทธิ (รายจ่าย-รายได้) ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนัก ในขณะที่หนี้ครัวเรือนที่สูงยังคงเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวสินเชื่อการบริโภค แม้มีแรงกระตุ้นเข้ามาก็ตาม
โดยมองว่านโยบายเศรษฐกิจพรรคที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอื้อต่อการบริโภคของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางในส่วนของนโยบายการจ้างงานและค่าแรงที่เป็นธรรม หากเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท/วัน ภายใน 100 วันแรกที่เป็นรัฐบาลจะช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นแต่อาจส่งผลต่อความสามารถทำกำไรของผู้ประกอบการและการแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าไทย เมื่อประเมินผลต่อเงินเฟ้อคาดว่าจะมีจำกัดและใช้เวลาในการส่งผ่าน
ขณะที่การสร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนให้มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์วงเงินที่ต้องใช้ 650,000 ล้านบาท/ปี ส่วนนโยบายส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม คาดว่า จะส่งผลกระทบกับธุรกิจในกลุ่มการสื่อสารโทรคมนาคม ผู้ผลิตสุราและเบียร์ และกลุ่มโรงไฟฟ้า รวมถึงมีผลต่อการลงทุนในตลาดทุน
แม้แรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมาจากภาครัฐยังไม่ชัดเจน แต่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากภาคบริการและบริโภคภาคเอกชน โดย SCB CIO ประเมินเศรษฐกิจไทยได้อานิสงส์จากการขยายตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมทั้งการผลิตในภาคเกษตรและการบริโภคเอกชน ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายมีแนวโน้มทำให้เกิดการชะลอการลงทุนทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้การฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยช้ากว่าคาดการณ์ไว้
ส่วนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยออกจากภาวะ earning recession หรือภาวะที่กำไรถดถอยแล้ว หลังกำไรหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสในช่วงครึ่งหลังปี 65 ส่วนการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/66 ฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก และส่งสัญญาณมีแนวโน้มสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 66 ตาม เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการเปิดเมืองเปิดประเทศ